สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๗


    พระคุณเจ้า มีขบวนการที่เกิดขึ้นในมหาสติปัฏฐานสูตรมากมาย ที่หลายสำนักหรือหลายท่านคิดค้น พยายามทำให้เข้าใจว่า นี่คือหลักการของมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าเป็นการเจริญอานาปา หรือผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ หรือควบคุมสติ ควบคุมอิริยาบถ หรือมีสติในอิริยาบถนั้นๆ หรือพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา อสุภกัมมัฏฐาน ไม่ทราบว่า การพิจารณาหรือกรรมวิธีเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมหาสติปัฏฐานสูตรได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดสำหรับศึกษา ไม่ใช่สำหรับเพียงอ่าน เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมในขณะนี้ละเอียดมาก ซึ่งถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะเข้าใจผิดเพียงโดยการอ่าน เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจว่า ใครก็ตามเพียงอ่านแล้วก็ปฏิบัติ จะไม่เข้าใจธรรม

    พระคุณเจ้า มีคำถามว่า ที่ผ่านมาเราอธิบายมหาสติปัฏฐานสูตรในแนวของวิปัสสนามาตลอด ถ้าจะอธิบายมหาสติปัฏฐานสูตรในแนวของสมถะบ้าง จะได้หรือไม่ ถ้าได้ โปรดอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ คือคำถามแรกที่ถามว่า ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดถือ ฟังดูก็ดี แต่ทำได้อย่างไร เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วต้องยึดถือแน่นอน จะบอกว่าไม่ควร ก็ไม่ควร แต่ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ยังต้องยึดถือ

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง และปัญญานั้นเองก็จะละความยึดถือได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจสภาพธรรม ก็ย่อมยังคงยึดถือต่อไป

    และสำหรับเรื่องสติปัฏฐานกับสมถะ วิปัสสนา ที่พระคุณเจ้าถามว่า มีสมถะด้วยหรือเปล่าในสติปัฏฐาน

    ความจริงโดยมากคนใช้คำนี้ โดยยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สมถะคืออะไร บางคนก็คิดว่า เวลาทำสมาธิ นั่นคือสมถะ แต่โดยศัพท์ สมถะหมายถึงความสงบ ถ้าพูดถึงเท่านี้ ทุกคนก็คิดว่า อยู่คนเดียวก็สงบ หรือว่าไม่ไปวุ่นวาย ไม่มีเรื่องมากๆ ก็สงบ แต่ความจริงไม่ใช่ ความสงบต้องเป็นความสงบจากอกุศล

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินได้ฟังคำอะไร ขอให้เจาะลึกถึงความหมายที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นด้วย มิฉะนั้นเราก็จะผ่านไปโดยผิวเผิน แล้วก็คิดว่าเข้าใจ

    สำหรับสติปัฏฐานนั้นต้องมีทั้งสมถะ และวิปัสสนา เพราะเหตุว่าสมถะหมายความถึงสงบจากกิเลส หรือจากอกุศล สติปัฏฐานจะไม่สงบไม่ได้เลย สติปัฏฐานสงบ และถ้ากล่าวโดยองค์ของสติปัฏฐาน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะเป็นองค์ของปัญญา องค์อื่นเป็นสมถะ เพราะเหตุว่าขณะนั้นสงบจากอกุศล ไม่ใช่เรื่องของสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ แต่เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นว่า สมาธิมีจริง เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ต้องแยกตั้งแต่ต้นเลย คือ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่า “สมาธิ” สมาธิก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นสมาธิก็เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้ว เป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ๒ อย่างนี้ต้องเข้าใจให้ชัดเจน เมื่อเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ตั้งมั่น ขณะนั้นต้องมีการรู้ว่า ตั้งมั่นที่ไหน ตั้งมั่นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นนามธรรม

    ขณะที่จิตเกิด จะขาดสมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เลย เวลาที่ศึกษาธรรมโดยเฉพาะปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะได้ยินเรื่องของอายตนะ เรื่องปฏิจจสมุปปาท เรื่องธรรมใดๆ ก็ตาม ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมอะไรใน ๓ ปรมัตถธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น เรายกเรื่องของนิพพานไว้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่มี ไม่ได้ปรากฏ ยังไม่ถึง ยังไม่ได้รู้แจ้ง แต่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ต้องทราบว่า มีเพราะเกิด ขณะนี้ไม่มีใครรู้เลยว่า สภาพธรรมเกิดจึงมี แต่ให้ทราบว่า แม้เสียง ก็ต้องเกิดจึงมีเสียงปรากฏ ถ้าเสียงไม่เกิด ก็ไม่มีเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นทุกอย่าง แม้แต่แข็ง ขณะที่ปรากฏเมื่อไร ก็ต้องสภาพนั้นเกิดปรากฏจึงมีแข็ง

    ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่า ถ้าได้ยินคำอะไร เป็นปรมัตถธรรมอะไร ถ้าได้ยินคำว่า “สมาธิ” ได้แก่ เจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าที่กล่าวว่า มีเจตสิก ๕๒ ชนิด หมายความว่า มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง เช่น คำถามที่ว่า สัญญาเป็นอะไร สัญญาเป็นสภาพจำ ขณะนี้จำได้ทั้งนั้น ทุกขณะจิต จำสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะสัญญาเจตสิกจำ จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้ติดข้อง จิตไม่ได้ขุ่นเคือง จิตเป็นธาตุรู้ซึ่งสามารถรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่เราใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารมณ์” ตามที่ได้กราบเรียนแล้วในตอนต้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิต ก็ต้องมีอารมณ์เป็นสิ่งที่คู่กัน โดยจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นบางครั้งจะกล่าวถึงนามธรรม ๕๓ คือ เจตสิก ๕๒ และจิต ๑ จิตมีลักษณะ ๑ อย่าง คือ เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ส่วนเจตสิกแต่ละอย่าง เช่น สัญญาเจตสิกก็จำ สัญญาจะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากจำสิ่งที่จิต และสัญญากำลังรู้ ส่วนเจตนาก็เป็นสภาพที่จงใจ ซึ่งก็ไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้นนามธรรมอื่นทั้งหมด นอกจากสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ สภาพธรรมทั้งหมดนั้นเป็นเจตสิก ไม่ว่าในชีวิตประจำวัน เราจะพูดว่า ขยัน หรือเกียจคร้านก็เป็นลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นสมาธิก็เป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ชื่อของเจตสิกนี้มีว่า เอกัคคตาเจตสิก สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงที่จะไปทำสมาธิ เพราะว่าไม่มีใครทำสมาธิ ถ้าเอกัคคตาเจตสิกไม่เกิดแล้วตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวนานๆ พอจะให้ปรากฏลักษณะของสมาธิได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง รู้อารมณ์ ๑ อย่าง เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ สัญญาเจตสิกก็จำในอารมณ์ที่สัญญา และจิตกำลังรู้ด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบว่า ที่เราใช้คำว่า “สมาธิ” ในภาษาไทย คนนั้นไม่มีสมาธิ อากัปกิริยาของเขาก็อาจไม่อยู่นิ่ง ทำโน่นทำนี่ แล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราก็อาจจะบอกว่า ไม่มีสมาธิ หรือถ้าเรากำลังตั้งอกตั้งใจทำอะไร แล้วเพื่อนคุย เราก็บอกว่า เสียสมาธิ คือไม่สามารถจะตั้งมั่นที่อารมณ์ที่เรากำลังจดจ่อต้องการอยู่ได้ แต่ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก เมื่อเกิดกับจิตทุกดวง และจิตมีหลายอย่าง ถ้าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต ตั้งมั่นได้ในอารมณ์ที่เป็นอกุศล กำลังติดข้องต้องการจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความสงบ ลักษณะของความสงบเป็นเจตสิกอื่นต่างหากที่ไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นกายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิ ๒ เจตสิกในเจตสิก ๕๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า เมื่อไม่ใช่เรา เป็นอะไร ก็ต้องเป็นธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นก็จะทราบได้ว่า ถ้าเข้าใจผิดว่า สมาธิสงบ ไม่ถูก เพราะเหตุว่าสมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ส่วนเวลาที่จิตสงบ จะใช้ต่อเมื่อเป็นกุศลจิต หรือจิตฝ่ายดี เพราะว่าขณะนั้นสงบจากอกุศล

    ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ได้สงบเลยค่ะ เป็นความติดข้องต้องการที่จะให้จิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นเป็นโลภะ

    เพราะฉะนั้นมิจฉามรรค มิจฉาสมาธิเป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพที่ติดข้องต้องการที่จะให้จิตอยู่ โดยที่ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นจะบอกให้ไม่ติดข้อง โดยที่ไม่มีปัญญารู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเอกัคคตาเจตสิกต้องมี เพราะเกิดกับจิตทุกดวง แต่เอกัคคตาเจตสิกก็ยังคงเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ จะเปลี่ยนเป็นเจตสิกอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิด ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเกิดร่วมด้วย ซึ่งมีเจตสิกซึ่งสงบเกิดทุกครั้งที่เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นสงบที่นี่ อย่าเข้าใจผิดว่า เป็นการจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อย่าเข้าใจผิดว่า ขณะที่ไม่คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นสงบ แต่สงบในพระพุทธศาสนา หมายความว่าสงบจากอกุศล

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา และสำหรับการอบรมความสงบ ที่เราใช้คำว่า “สมาธิ” เวลาที่กล่าวถึงข้อความในวิสุทธิมรรค ชื่อเรื่องบอกแล้ว วิ – สุทธิ – มรรค หนทางของความบริสุทธิ์จากกิเลส เพราะฉะนั้นต้องเป็นฝ่ายโสภณ ฝ่ายดี ฝ่ายกุศล มิจฉาสมาธิจะไม่เกี่ยวข้องเลย

    การศึกษาธรรมต้องทราบว่า ขณะนั้นกำลังศึกษาเรื่องอะไร หัวข้ออะไร ถ้าพูดถึงเรื่องอกุศล จะใช้คำว่า “ทิฏฐิเจตสิก” ไม่ต้องใช้คำว่า “มิจฉา” ก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นอกุศล ก็ต้องผิดอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกเป็นอกุศลเจตสิก เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องกุศล ขณะนั้นถ้าใช้คำว่า “สมาธิ” ก็ต้องหมายความถึงสัมมาสมาธิ จะหมายถึงมิจฉาสมาธิไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้เวลาที่จิตสงบจากอกุศล เป็นกุศล กุศลที่เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น อบรมขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ลักษณะของความสงบจะตั้งมั่นคงจนกระทั่งลักษณะของสมาธิที่ประกอบด้วยความสงบปรากฏเป็นลำดับขั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนี้จิตสงบหรือไม่สงบ ไม่มีการอบรมเจริญสมถภาวนาได้เลย เพราะเหตุว่าทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นญาณสัมปยุตต์ หมายความว่าจิตขณะนั้นต้องประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ถ้าขณะนั้นไม่เป็นปัญญาเจตสิก เป็นมิจฉาทั้งหมด เพราะว่าจะถูกไม่ได้ เมื่อไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องทราบว่า ใครก็ตามที่พูดเรื่องสมาธิ คนนั้นมีความเข้าใจสมาธิว่าอย่างไร ใครก็ตามที่ใช้คำว่า “สมถะ” หรือ “สงบ” คนนั้นเข้าใจสงบว่าอย่างไร หรือเขาไม่เข้าใจเลย แต่เขาเอาสมาธิมาเป็นความสงบ

    นั่นก็เป็นเรื่องที่พระธรรมจะทำให้เราพ้นจากความเห็นผิด พ้นจากความเข้าใจผิด ถ้าไม่ศึกษา เราก็ยังคงไม่รู้ คิดว่าจะต้องคิดเอาเอง และเข้าใจเอาเอง ซึ่งไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องเจ้าค่ะ


    หมายเลข 8703
    22 ส.ค. 2567