สนทนาธรรมที่วัดวังตะกู ๘
พระคุณเจ้า ทำไมกำหนดเวทนาแล้วสามารถบรรลุธรรมได้
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะเจ้าคะ ฟังดูเหมือนกับทำได้โดยไม่ต้องมีปัญญาเลย แต่ความจริงมหาสติปัฏฐานเป็นการอบรมภาวนาให้ปัญญาเจริญขึ้น ตั้งแต่การไม่รู้ลักษณะของของนามธรรม และรูปธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม แต่เพียงฟังเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาอีกระดับหนึ่งต้องเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นจนกว่าจะสมบูรณ์ถึงมรรคจิตที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าปัญญาขั้นต้นๆ ไม่มี ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นก็มีไม่ได้
เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ตามก็อ่านอีก เวทนานุปัสสนาก็พยายามไปรู้เวทนา ด้วยความเป็นเรา แต่ธรรมต้องสอดคล้องกันตั้งแต่คำต้นจนถึงคำท้าย ธรรมเป็นธรรม ไม่เรียกอะไรก็ได้ แข็ง จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ หรือแม้ไม่เรียก แต่สามารถรู้โดยกายสัมผัสได้ เพราะว่าสิ่งนั้นมีจริง
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ว่า เป็นธรรม ก็จะไม่มีเราที่จะไปดูเวทนา เพราะว่าจะดูสักเท่าไร ก็เป็นเราที่ดู จะเห็นเวทนาอะไรก็เป็นเราที่เห็น ขณะนั้นเป็นสุข ก็ยังคงเป็นเราที่สุข ไม่สามารถรู้ได้ เข้าใจได้ว่า ลักษณะของสติไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ความต้องการที่ต้องการจะดู แต่ต้องรู้ว่า ขณะนี้สติเกิดหรือหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้นสำหรับสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าเป็นขั้นของสมถะ ต้องมีปัญญาระดับที่สามารถรู้สภาพจิตที่ต่างกันว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต แล้วจึงจะค่อยๆ กันนิวรณธรรม ซึ่งได้แก่อกุศลจิตทุกชนิดออกไปได้ เพราะขณะนั้นปัญญาสามารถรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต และยังต้องรู้เหตุที่กุศลจิตเกิดว่าเพราะอะไร เพราะว่าคนเราที่ไม่คิดนี่ไม่มี คิดทุกคน แต่ว่าคิดเป็นกุศลหรือคิดเป็นอกุศล คิดประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดเป็นอกุศล ขณะนั้นก็จะอบรมหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็อบรมไป คือขณะนั้นทำให้โลภมูลจิตเพิ่มขึ้น ต้องการเพิ่มขึ้น ต้องการที่จะจดจ้อง โดยไม่ได้ละคลายเลย
ปัญญาของสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นปัญญาต่างขั้น แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าปัญญาของสมถะสามารถรู้ความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต แล้วรู้ว่า เมื่อตรึกระลึกถึงสิ่งใด จิตจะค่อยๆ สงบจากอกุศล จนเพิ่มกำลังขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต ถ้ากำลังจดจ้องต้องการ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา แล้วเป็นโลภะด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละอกุศล กุศลก็เจริญไม่ได้ แต่เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นกุศลได้ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิด
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีปัญญาต่างขั้น คือ ปัญญาของสมถะนั้นเพียงสามารถที่จะอบรมกุศลจิตให้เจริญ ให้ตั้งมั่น แต่แม้กระนั้นก็ไม่สามารถละความเป็นตัวตนหรือความเป็นเราได้ นอกจากสติปัฏฐาน วิปัสสนาภาวนาแล้ว ไม่มีทางอื่นที่ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นแม้แต่คำที่ว่า “ละเสีย อย่ายึดมั่น” ก็เป็นสิ่งที่เพียงฟัง แต่เมื่อไม่ได้แสดงหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่สามารถละได้ เพราะเหตุว่าแม้สมถภาวนา จิตที่สงบ ยังละความเป็นตัวตนไม่ได้
พระคุณเจ้า อยากจะให้ท่านพิธีกรใช้เวลาที่เหลือนี้ จริงๆ จะใช้คำว่าสรุปไม่ได้ เพราะสภาวธรรมไม่มีบทสรุปไปตลอด แต่อยากให้ใช้คำนั้น เพราะในหัวข้อแห่งมหาสติปัฏฐาน ให้เกิดความสว่างกระจ่างชัดแก่ผู้ฟังที่จะเรียนรู้สภาวธรรมในโอกาสต่อๆ ไป
ท่านอาจารย์ ถ้าจะสรุปก็คือว่า พุทธบริษัทต้องศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงด้วยความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีความเข้าใจผิด และทำให้พระธรรมเสื่อมสูญไป เพราะความเข้าใจผิดของพุทธบริษัท เพราะผู้อื่นก็ไม่สามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากพุทธบริษัท ถ้ามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด ก็จะผิดต่อกันไปเรื่อยๆ แต่หนทางเดียวที่จะรักษาพระศาสนา เพราะว่าพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ แล้วต้องเป็นผู้ตรง สิ่งใดถูกก็คือถูก สิ่งใดผิดก็คือผิด แล้วก็มีความกล้าทิ้งสิ่งที่ผิด เพื่อจะได้อบรมเจริญสิ่งที่ถูกให้มั่นคงขึ้น