ทุกอย่างต้องตั้งต้นที่ปรมัตถ์


    ผู้ฟัง ถ้าหากเราศึกษาเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมต่างๆ จะทำให้ความรู้สึกเรื่องนี้มั่นคงขึ้นไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องตั้งต้นที่ปรมัตถ์ ไม่ว่าพูดเรื่องปัจจัย ก็หนีปรมัตถ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดเรื่องกรรม กรรมคืออะไร ก็ต้องตอบได้ว่า ได้แก่ปรมัตถ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นเจตสิก แต่เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นโดยมากทุกคนก็โละไปที่จิต แต่ความจริงแล้วคือเจตสิก อย่างโลกุตตรจิตก็คือโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาระดับนั้น จิตนั้นก็เป็นโลกุตตระไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงความละเอียด ต้องแยกจิตกับเจตสิก

    ผู้ฟัง เคยฟังเทปท่านอาจารย์ครั้งหนึ่งบอกว่า จิตมี ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเหตุ กลุ่มหนึ่งคือผล เมื่อฟังก็ยิ่งเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เห็นว่า เหตุมาให้ผลตรงไหน เมื่อไร

    ท่านอาจารย์ อันนั้นคือการศึกษาคร่าว ถ้าละเอียดต้องคืออะไรก่อน เจตนาเป็นเจตสิก เป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ ขณะนี้มีไหม นี่คือของจริงๆ จะต้องรู้ ถึงจะพูดเรื่องปัจจัยต่างๆ ได้ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพธรรมจริงๆ ก่อน

    เจตนาเป็นความจงใจ ความตั้งใจ ขณะนี้มีไหม บอกมาซิ เจตนาอะไร

    ผู้ฟัง ฟังธรรมเพื่อจะละคลายกิเลส

    ท่านอาจารย์ เจตนานะคะ แต่ถ้าศึกษาละเอียดจะทราบว่า เราไม่รู้เจตนาทั้งหมด เรารู้บางเจตนา เช่น เจตนาทำกุศลหรืออกุศล คิดเป็นกุศล คิดเป็นอกุศล เจตนานั้นพอจะรู้ได้ แต่ว่าจิตมีถึง ๔ ชาติ ได้แก่อะไรคะ นี่คือต้องตั้งต้นก่อนให้มั่นคง แล้วถึงจะพูดถึงอะไรทีหลังได้ แต่ถ้าตรงนี้ไม่มั่นคง การพูดถึงเรื่องอื่น ก็เป็นเพียงพูดเรื่องชื่อ แต่ธรรมเป็นเรื่องเข้าใจสภาพที่กำลังมีจริงๆ อย่างที่เราบอกว่า เจตนาคือความจงใจตั้งใจ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นบางขณะเท่านั้นที่รู้ได้ แต่ที่รู้ไม่ได้ก็มี เพราะเหตุว่าจิตมี ๔ ชาติ กุศล ๑ เจตนาที่เป็นกุศล พอจะรู้ อกุศล ๑ เจตนาที่เป็นอกุศลก็พอจะรู้ เจตนาที่เป็นวิบากกับเจตนาที่เป็นกิริยา ใครรู้ แต่มี

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน


    หมายเลข 8707
    22 ส.ค. 2567