จิตทั้งหมดมีหน้าที่เดียว
ผู้ฟัง จิตเป็นการรู้ แต่เจตสิกเป็นการรู้อารมณ์ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์
จิตกับเจตสิกแยกกันได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่น่าจะได้ เพราะว่าพอจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีอารมณ์ตามมาทุกครั้ง
ท่านอาจารย์ อารมณ์คืออะไร
ผู้ฟัง ความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ นี่ค่ะ เพียงฟัง ต้องละเอียดมากแม้ในขณะที่ฟัง
๒ คำนี้ต่างกันที่ว่า จิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีสภาพรู้ โดยมีสิ่งที่ถูกรู้ ได้ไหมคะ ไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ อารัมมณะ หรืออาลัมพณะ หรืออารมณ์ หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้
เวลาที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพที่ได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้เลย ขณะนั้นอะไรเป็นอารมณ์
จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จิตจะเกิดโดยไม่รู้ไม่ได้เลย คือ ต้องแม่น ต้องเข้าใจจริงๆ แต่ละคำไม่เปลี่ยนเลย ขณะเกิดมีจิตไหมคะ
ผู้ฟัง ยังไม่ทราบเลย
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ที่ว่าเป็นคน เป็นสัตว์เกิด ต้องมีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ อย่างโต๊ะ ไม่รู้อะไรเลย เก้าอี้ก็ไม่รู้อะไรเลย เวลาที่ใช้คำว่า “สภาพรู้” หรือ “ธาตุรู้” บางทีอาจจะใหม่มาก เพราะว่าทางโลก เราเคยคิดว่า ต้องรู้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างรู้ว่า นี่เป็นกล่อง นั่นเป็นคน เราคิดว่านั่นคือรู้ แล้วเวลาเราบอก “ไม่รู้” แต่ความจริงจิตไม่ใช่อย่างนั้น จิตเป็นธาตุหรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง เวลาฟังอย่างนี้เหมือนฟังของเก่า แต่ของเก่าขณะนี้กำลังเป็นอย่างนี้ ฟังอีกก็ลึกลงไปที่จะต้องเข้าใจให้ถึงความเป็นอย่างนั้นจริงๆ ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง
ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” ไม่มีใครปฏิเสธ หรือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ว่าไม่มีก็ไม่ได้ เป็นของใครก็ไม่ได้ แต่สภาพรู้มี สภาพรู้เป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ถ้าเราใช้คำว่า “รู้” ธาตุรู้นี่มี เมื่อเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้
นี่เป็นเหตุเป็นผล เราเพียงแต่ไม่ใช้คำยาวๆ ว่า สิ่งที่ถูกจิตรู้ แต่เราใช้คำสั้นๆ ว่า “อารมณ์” หรืออาลัมพณะ หรืออารัมมณะ ใช้คำนี้ได้ ถ้ามีจิตรู้ ไม่มีอารมณ์ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ได้อย่างไรคะ
ผู้ฟัง อย่างเช่นเวลาเกิด
ท่านอาจารย์ เวลาเกิดมีจิตไหมคะ
ผู้ฟัง ค่ะ มีจิต
ท่านอาจารย์ มีจิตต้องมีอารมณ์ คือ โดยเหตุผล ปฏิเสธไม่ได้ค่ะ ถ้าจิตเกิด หมายความว่าจิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่ถูกรู้ คือ อารมณ์ ใช้คำสั้นๆ ว่า อารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ เสียงในป่า ไม่มีใครได้ยินเลย เป็นอารมณ์หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ไม่เป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ แต่เสียงที่กำลังมีปรากฏเป็นอารมณ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ของอะไร
ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ของจิต
ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ แต่เป็นอารมณ์ของจิตอะไร นี่ค่ะ เสียงกำลังปรากฏ เป็นอารมณ์หรือเปล่าคะ เป็นอารมณ์ของจิตอะไร จิตได้ยินค่ะ ง่ายๆ ธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ทุกอย่าง ธรรมเป็นชีวิตประจำวัน แล้วเราไม่เคยรู้เลย เป็นเราไปทั้งหมด
ผู้ฟัง เข้าใจผิด คิดว่า จิตคือใจอย่างเดียว ต้องเป็นจิตที่เกิดจากการการเห็น ได้ยิน
ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่า “จิต” จะใช้คำว่า “ใจ” จะใช้คำว่า “หทัย” จะใช้คำว่า “มโน” ใครจะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรก็ไม่ว่า แต่หมายความถึงสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพชนิดหนึ่งซึ่งเกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ อันนี้เป็นคำจำกัดความซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วจะทำให้เราเข้าใจตลอดไปถึงของสภาพจิตอื่นๆ ด้วย
เพราะฉะนั้นเสียงขณะที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์หรือเปล่า เป็นอารมณ์ของอะไร
ผู้ฟัง ของจิตได้ยิน
ท่านอาจารย์ จิตได้ยินเป็นเชื้อชาติอะไรหรือเปล่าคะ ชาติจีน ชาติไทยหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นเราหรือเปล่าคะ เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ถ้าพูดถึงจิตไม่ใช่เจตสิก ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเจตสิกเลย มีเจตสิก แต่กำลังพูดเฉพาะจิต
เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจไปเป็นแต่ละขณะ แต่ละเรื่อง กำลังพูดถึงเรื่องจิต ที่เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างขณะนี้มองเห็นสิ่งนี้ เป็นจิตที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เห็นลักษณะความวิจิตรของสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า คือ จิตกำลังรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งนั้น ของอารมณ์นั้น นี่เป็นหน้าที่เดียวของจิต จิตจะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นโลกุตตรจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต จิตทั้งหมดมีหน้าที่เดียว คือ รู้แจ้งเฉพาะอารมณ์เท่านั้น แต่ว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะว่าถ้าไม่มีการรู้แจ้ง การจำสิ่งนี้ก็มีไม่ได้ ความรักความชังในสิ่งนี้ก็เกิดไม่ได้ ก็ต้องสภาพที่เป็นจิตที่กำลังรู้อารมณ์ และก็มีเจตสิก คือ นามธรรมอื่นๆ นามธรรมหมายความถึงสภาพรู้ แล้วแต่จิตก็เป็นนามธรรม เจตสิกก็เป็นนามธรรม ซึ่งเกิดร่วมกัน และรู้อารมณ์เดียวกัน ถ้าจะจำก็จำสิ่งที่จิตรู้ เจตสิกก็จำสิ่งนั้น เวทนาก็รู้สึกชอบไม่ชอบ นี่คือการเริ่มเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง แล้วสติเป็นอะไรครับ เป็นเจตสิกหรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ทีนี้เราก็ตอบได้ถ้าเราทราบว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานนั้นยกไว้ รูปหมายความถึงสิ่งที่ไม่สามารถรู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้นสภาพรู้ที่เป็นนามธรรมก็มีเพียง ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก และใน ๒ อย่างนี้ จิตเป็นใหญ่ คือสามารถรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้น ไม่ทำหน้าที่อื่นเลย