หน้าที่ของชาวพุทธ


    คุณหญิงชวนชม ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพรช่วยกรุณาชี้แจงด้วยว่า ถ้าจะเป็นชาวพุทธ โดยยังไม่ต้องสละอาคารบ้านเรือนไปครองเพศบรรพชิตนั้น เราควรมีแนวทางการศึกษาอย่างไร

    อ.สมพร อันนี้ผมเห็นว่า การปฏิบัติธรรมไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระ หรือสละบ้านเรือนแล้วไปปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นของพระพุทธเจ้า แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ มี ๒ คือ ประเภทหนึ่งครองเรือน อีกประเภทหนึ่งไม่ครองเรือน อย่างภิกษุมีศีล ประเภทไม่ครองเรือน เรียก “อนาคาริยวินัย” ส่วนฆราวาสอย่างพวกเราครองเรือน เรียก “อาคาริยวินัย” ตามอัธยาศัยอย่างพวกไม่ชอบครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาส ชอบสันโดษ ชอบความสงบ ก็บวชเป็นภิกษุ แต่ก็มีภาระมาก ทางบ้าน การงาน ลูกบ้าง บิดามารดาบ้าง เรื่องทรัพย์บ้าง เราก็ครองเรือน แต่ศึกษาธรรมให้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติได้ ธรรมที่จะศึกษาก็ไม่มีอะไรมาก ถ้าว่าโดยย่อไม่มีมาก แต่ว่าโดยพิสดารแล้ว ธรรมของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งยิ่งนัก ยากจะเห็นได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าพูดให้ง่าย ก็พูดเฉพาะหัวข้อ แต่ว่าโดยพิสดารยากจริงๆ เราก็ศึกษาตามแนวหลักใหญ่ คือ พระไตรปิฎก ถ้าผู้ใดนำพระไตรปิฎกมากล่าว แล้วถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก เราก็ยึดถือผู้นั้นเป็นหลัก เพราะเราก็ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกทุกคน เมื่อผู้ใดอ่านพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจดี อย่างที่อาจารย์นำมาบรรยายนี้ สามารถแจกแจงแยกแยะให้คนที่ไม่ได้อ่าน หรืออ่านไม่เข้าใจ ฟังแล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง คือ เราไม่ได้ยึดถืออาจารย์โดยเฉพาะ แต่ถ้าเรายึดถืออาจารย์โดยเฉพาะ เราอาจจะผิดพลาด เพราะว่าสำนักอาจารย์บางแห่งตีความหมายคนละอย่าง แต่ถ้าเราจะพิจารณาโดยแยบคาย โดยเหตุ โดยผลของคำพูดที่อาจารย์บรรยายว่า การบรรยายอย่างนี้ตรงกับเหตุ มีเหตุที่จะเป็นไปได้ไหม ในสมัยก่อนก็มีเรื่องชาวกาลามโคตร อาจารย์พวกหนึ่งไปก็บรรยายธรรมอย่างหนึ่ง พวกหนึ่งไปก็บรรยายอีกอย่างหนึ่ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายพระศาสดาเสด็จไป พระองค์ก็แสดงธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าผู้ฟังไม่เข้าใจ ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ก็จะหลงเชื่อแล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุด้วยผล

    ดังนั้นหลักในการฟังธรรมให้เข้าใจ ก่อนฟังเราก็ต้องคบกัลยาณมิตร คืออาจารย์นั่นเอง คบ ไม่ใช่มานั่งสนทนาปราศรัยอย่างนี้เสมอไป คือ แค่การฟังก็เป็นการคบ ฟังธรรมที่อาจารย์บรรยาย ก็เรียกว่าการคบเหมือนกัน คบก็คือมาฟัง แต่ฟังก็เป็นอีกข้อหนึ่ง เมื่อฟังแล้วก็ใคร่ครวญดูเหตุผลว่า ธรรมเป็นจริงอย่างนั้นไหม จุดประสงค์ของเราเรื่องการปฏิบัติ เราก็ค่อยฟัง ค่อยไต่ถาม ค่อยคิด ค่อยพิจารณา ทีละเล็กทีละน้อย ให้ปัญญาเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นๆ เราก็จะได้ประโยชน์มาก

    คุณหญิงชวนชม กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ลองให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้สักเล็กน้อยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ชาวพุทธเริ่มรู้สึกตัวแล้วนะคะ ว่า ทุกคนมีหน้าที่ของชาวพุทธ คือ ไม่ใช่เป็นชาวพุทธเฉยๆ แล้วก็ไม่ทำอะไร แต่การที่จะเป็นชาวพุทธก็ต้องมีหน้าที่ของชาวพุทธด้วย

    เพราะฉะนั้นก่อนที่ใครจะทำอะไร ก็ควรได้ศึกษาเรื่องหน้าที่ที่จะต้องทำเสียก่อน ให้ชัดเจนว่า หนักเบาแค่ไหน การเป็นชาวพุทธยาก ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าต้องทราบว่า ผู้ที่เป็นพระศาสดาที่ได้ทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ดับกิเลสหมด

    เพราะฉะนั้นคำสอนของพระองค์กับคนธรรมดาซึ่งยังมีกิเลสเต็ม กว่าจะได้เข้าใจในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณ เพื่อจะได้เห็นประโยชน์ในหน้าที่จะทำ ซึ่งประโยชน์นั้นเป็นของตัวท่านเอง เพราะว่าทุกคนทำหน้าที่ของตน เป็นหน้าที่ที่ยาก แต่ว่าคุ้มอย่างมหาศาล หมายความว่าจะติดตามไปตลอด จนกระทั่งท่านสามารถประสบความสุขที่เป็นสันติสุขจริงๆ แต่ข้อสำคัญต้องทราบว่า การเป็นชาวพุทธต้องศึกษาให้เข้าใจพระธรรม ซึ่งพระธรรมไม่ง่าย และเมื่อศึกษาแล้ว ต้องทราบว่า ไม่ใช่เพียงศึกษาให้เข้าใจ แต่ว่าจะต้องพิจารณาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม ตามความสามารถ ตามสติปัญญา และตามการสะสมที่จะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าจะเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการมีชีวิตอย่างชาวพุทธที่ได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธ

    เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกคนก็มีกิเลสมากๆ คงจะไม่มีใครบอกว่า กิเลสน้อย ถ้าเป็นคนที่รู้จักตัวเอง ถ้ายังไม่ได้ศึกษาแล้วจะบอกว่ากิเลสน้อย เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ เพียงเริ่มต้นให้ศึกษา บางท่านก็บอกว่ายากเสียแล้ว ยากเหลือเกิน ไม่มีเวลาพอที่จะศึกษา แม้แต่เพียงจะฟังวิทยุ ฟังธรรม ซึ่งโอกาสจะได้ฟังก็แสนสะดวกสบาย คือ เมื่อตื่นนอน และก่อนนอน ก็เป็นเวลาพักผ่อน หรือควรเป็นเวลาแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ ความเข้าใจในชีวิต ในพระธรรม แต่บางท่านด้วยกำลังของกิเลส และไม่เห็นประโยชน์ แล้วก็ไม่รู้หน้าที่ว่า ถ้าเป็นชาวพุทธแล้วควรจะฟังพระธรรม ก็ไม่ฟัง

    นี่ก็เป็นความยากประการหนึ่ง แต่บางท่านก็เริ่มเห็นประโยชน์ แล้วพยายามฟัง แต่ก็จะสังเกตชีวิตจริงๆ ได้ว่า ช่างยากจริงๆ เพราะเหตุว่าอย่างอื่นรู้สึกจะสนุกกว่า หรือน่าสนใจกว่า บางคนก็ฟังเฉพาะบางตอน ซึ่งสะดวก และบางตอนที่ไม่สะดวกก็ไปฟังอย่างอื่น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขั้นฟังก็ยังยาก และเมื่อฟังแล้วก็จะเห็นว่า วิถีชีวิตของชาวพุทธนั้นตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตของชาวพุทธที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม และยังไม่เห็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่นเรื่องของเมตตา ความเป็นมิตร ความหวังดี แต่เวลาที่มีสถานการณ์ เหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ลืมหมดว่า ชาวพุทธควรจะมีเมตตาอย่างไร กำลังของกิเลสทำให้กลับไปเป็นคนที่ไม่สนใจประพฤติปฏิบัติตามแนววิถีของชาวพุทธ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่แต่ละคนละค่อยๆ ละคลายกิเลส ก็จะต้องอาศัยปัญญา เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะละคลายหรือดับกิเลสได้ นอกจากปัญญา ถ้าจะเอาอวิชชา ความไม่รู้ หรือโลภะ ความติดข้อง ความพอใจในความคิด ความเชื่อต่างๆ แต่ละคนก็มีความเห็นซึ่งต่างจากวิถีของชาวพุทธทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีการศึกษาให้เห็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ เพื่อที่ปัญญานั้นเองจะค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลจิตเพิ่มขึ้น พัฒนาขึ้น สติปัญญามากขึ้นจนกระทั่งได้เป็นพุทธสาวก คือ ผู้ฟังที่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมตามได้


    หมายเลข 8710
    22 ส.ค. 2567