พุทธมามกะคืออะไร
ผู้ฟัง มีคำถามว่า ปัจจุบันนี้โรงเรียนต่างๆ นิยมให้นักเรียนทำพิธีพุทธมามกะ ขอเรียนถามว่า การทำพิธีพุทธมามกะ มีประโยชน์กับใครอย่างไร
อ.สมพร พุทธมามกะ แปลว่า นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของของเรา คือ นับถือพระพุทธเจ้าเพื่อจะศึกษาธรรม คำว่า “ของของเรา” ก็หมายความว่า เป็นสิ่งที่เราใกล้ชิด ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นของของเรา แต่เป็นของของเราเป็นระยะเริ่มต้น ให้ประชุมชนมาประชุมกันแล้วนับถือ แล้วมีการศึกษา ถ้านับถืออย่างเดียว ไม่มีการศึกษาก็ยังไม่เกิดประโยชน์ ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะเรานับถือ บางทีอาศัยศรัทธาอย่างเดียว ศรัทธาอย่างเดียวก็ไม่พอ เพราะนับถือพระพุทธเจ้าจะต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้ปัญญาเกิด ให้มีศรัทธาด้วย มีปัญญาด้วย คำว่า “นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของของเรา” อาศัยศรัทธาอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ ที่เรียกว่า “พุทธมามกะ”
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของยุคสมัย เพราะเหตุว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ รวมทั้งดิฉันด้วย ไม่เคยทำพิธีนี้เลย ไม่ทราบว่า มีใครทำบ้างหรือเปล่าคะ นี่ก็เป็นยุคโบราณนานมาแล้ว
เคยทำหรือคะ เหมือนประกาศนียบัตรหรือไงคะ และขณะนั้นมีความเข้าใจอะไรบ้างหรือยัง ไม่รู้เรื่องเลย แต่ก็เหมือนบัตรใบหนึ่งซึ่งแสดงว่า ท่านผู้นี้ได้ประกาศตนว่า มีพระผู้มีพระภาคเป็นของของเรา
แต่จริงๆ แล้ว เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของกาลสมัยจริงๆ เพราะเหตุว่าการจะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้นต้องถึงด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ หรือสวดมนต์เท่านั้น เพราะเหตุว่าเพียงเท่านั้นแล้วก็ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาก็ยังไม่พอ แต่ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน นอกจากในเรื่องโพธิราชกุมาร ไม่ทราบว่ามีเรื่องอื่นหรือเปล่าคะที่แสดงว่า มีผู้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
นี่ก็แสดงให้เห็นเรื่องของความเป็นอิสระทางความคิดว่า เมื่อใดผู้ใดมีสติปัญญาเข้าใจประโยชน์ของพระธรรม เมื่อนั้นผู้นั้นเองถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ โดยที่ไม่ต้องมีพิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ก็ห่างเหินพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน จนแสดงให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ทีเดียวยังไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ
ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายแห่งที่พยายามอาศัยพิธีกรรมต่างๆ เพื่อจะพยายามชักจูงให้เกิดความสนใจในพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเพียงขั้นของพิธีกรรมเท่านั้น ยังไม่ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจจริงๆ อย่างที่อาจารย์บุญสุขเป็นห่วงอยู่ คือเพียงแต่มาทำพิธีนิดหน่อย แต่เด็กนักเรียนก็ยังไม่ได้เข้าใจอะไร ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะช่วยกันศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าจะเกี่ยงให้บุคคลอื่นศึกษา โดยที่ตัวท่านไม่ศึกษานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการแก้สังคม ก็เกี่ยงให้คนโน้นแก้ คนนี้แก้ แต่ถ้ายังไม่แก้ตัวเอง สังคมก็แก้ไม่ได้ ฉันใด ผู้ที่เป็นชาวพุทธ และต้องการประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อจะส่งเสริมผดุงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ และก็จะได้ช่วยเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปได้ ไม่ใช่เพียงแต่พยายามทำพิธีกรรมเท่านั้น