ประโยชน์ที่ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ
ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์สุจินต์ว่า ลักษณะของการศึกษา ในขณะที่สติเกิด มีลักษณะอย่างไรที่ว่า ศึกษาลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง ลักษณะของการศึกษาในขณะนั้นเป็นอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ที่จริงทุกท่านก็คงจะได้ฟังรายการวิทยุมามาก เพราะฉะนั้นก็คิดว่าส่วนใหญ่ก็คงจะรู้เรื่องของนามธรรม และรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าฟังกันมาบางท่านก็ ๑๐ ปี บางท่าน ๒๐ ปี บางท่าน ๕ ปี ๖ ปี แล้วบางท่านก็อาจจะรู้สึกว่า ท่านก็ยังประพฤติปฏิบัติได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับชีวิตประจำวันจริงๆ
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความอดทนของท่านผู้ฟังในที่นี้ ที่อดทนที่จะฟังรายการธรรมอย่างการสนทนาธรรม ซึ่งดิฉันเชื่อว่า เพียงเวลาชั่วโมงครึ่งก็จะได้ไม่มากนัก คือสาระที่จะได้หรือว่าการที่จะเข้าใจอะไร ก็คงไม่ได้มากมายในแต่ละครั้ง แต่ทุกท่านก็ยังมีความอดทน
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าส่วนของการที่จะศึกษาธรรม ต้องอาศัยความอดทนด้วย เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะต้องการผลเร็ว เมื่อศึกษาแล้วก็คิดว่า จะได้ผลทันที หรือเมื่อมีความเข้าใจเรื่องจิต จำนวนเท่านั้น เจตสิกเท่านั้น รูปเท่านั้น เป็นผู้ที่มีความรู้มาก ก็คิดว่าเป็นการเพียงพอ แต่ความจริงแล้วทุกคนก็ทราบว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าทุกขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด
เพราะฉะนั้นที่ว่าการที่ชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งทุกคนได้ผลจากพระธรรมที่ได้ฟัง ไม่ใช่ว่าจะเป็นสติปัฏฐานโดยตลอด แต่ว่าสติปัฏฐาน ความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และ การที่สติปัฏฐานเกิดบ้าง จะช่วยเกื้อกูลชีวิตประจำวัน ที่จะทำให้แม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติขั้นหนึ่งขั้นใดก็เกิดระลึกได้ เช่น ทางกาย ทางวาจา ซึ่งอาจจะเคยเป็นผู้ที่มีกาย วาจาทุจริต ก็จะมีการระลึก แล้วก็สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นกายสุจริตบ้างทีละเล็กทีละน้อยเป็นการค่อยๆ ขัดเกลา ซึ่งทำให้ผู้นั้นได้เห็นประโยชน์ ได้เห็นคุณของพระธรรมจริงๆ ว่าเพราะอาศัยการฟัง ชีวิตจึงมีการเปลี่ยน เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการฟังนั้น เพื่อจะเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และเมื่อทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์ของคนอื่นทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ฟังศึกษาย่อมได้รับประโยชน์ตามควรแก่การเข้าใจพระธรรม และการพิจารณาพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านเวลาที่ศึกษา เข้าใจพระธรรมที่กำลังได้รับฟัง แต่ไม่ได้พิจารณาพระธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้นเพียงการฟังเท่านั้นไม่พอ การจำจำนวนก็ไม่พอ แต่ว่าเมื่อใดที่มีการพิจารณาตน เมื่อนั้นคือสติที่เกิด แล้วก็จะมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม มีการวิรัตทุจริต แล้วมีการประพฤติสิ่งที่สมควร เช่น ในเรื่องของทาน ในเรื่องของการช่วยเหลือบุคคลอื่น ในเรื่องของความนอบน้อม ในเรื่องของกุศลประการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น แต่ว่าจุดประสงค์ที่สุดก็คือการที่สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ศึกษามาว่า เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามที่จะสนทนาธรรมในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้ทราบว่า ตามความเป็นจริงต้องมีความเข้าใจ สัญญาที่มั่นคงว่า ขณะนี้ เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม ถ้ามีการไม่ลืม แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาที่จะรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว