จิต มนัส มนายตนะ หทย


    อ.กฤษณา เนื้อความ ๔ อย่าง ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ ของจิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ก็มีความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เป็นกิจหน้าที่ มีการเกิดดับสืบต่อเนื่องกัน เป็นอาการปรากฏ และมีนามธรรม และรูปธรรม เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ทีนี้นอกจากนี้ก็ยังมีเนื้อความที่เป็นลักษณะเฉพาะ หรือว่าวิเสสลักษณะ หรือสภาวะลักษณะของจิตอีกโดยประการอื่นๆ สรุปแล้วก็มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน คือ

    ที่ชื่อว่าจิตเพราะเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งอารมณ์ ที่ชื่อว่าจิตเพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ที่ชื่อว่าจิตเพราะเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก จิตแม้ทุกดวงชื่อว่าจิตเพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม และที่ชื่อว่าจิตเพราะกระทำให้วิจิตร

    อ.สมพร คำว่า “จิต” ก็มี วิเคราะห์ศัพท์ไว้แล้ว วิชานลักขณัง จิตตัง จิตมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ความจริงถ้าเราจะว่าโดยพิสดาร หรือว่าโดยย่อ ถ้าว่าโดยย่อไม่ยากเลย ว่าโดยย่อหมายความว่า จิตทั้งหมดก็มีจิต ๘๙ หรือโดยพิสดาร ๑๒๑ ว่าโดยย่อ จิตมีลักษณะเดียว นี่เรียกว่าโดยย่อ ลักษณะเดียว คือ รู้แจ้งอารมณ์ หรืออีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าสามัญลักษณะนั่น ๒ อย่าง อันนี้ว่าโดยจิตจริงๆ ที่เป็นวิเสสลักษณะ มีอย่างเดียวคือรู้แจ้งอารมณ์ แต่ถ้าเราจะว่าโดยพิสดาร การรู้แจ้งอารมณ์ มีถึง ๘๙ ดวง เพราะว่า ๘๙ ดวง อารมณ์คนละอย่าง เมื่ออารมณ์คนละอย่างแล้ว จิตก็รู้อารมณ์คนละอย่าง เช่นรู้สี มีสีเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง มีเสียงเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง มีสีเป็นอารมณ์ก็คือจักขุวิญญาณ มีเสียงเป็นอารมณ์ก็คือโสตวิญญาณ จักขุวิญญาณไม่ใช่โสตวิญญาณ โสตวิญญาณไม่ใช่จักขุวิญญาณ เพราะอารมณ์คนละอย่าง

    ดังนั้นถ้าว่าโดยย่อ จิตมีการรู้อารมณ์เท่านั้น โดยย่อ เป็นลักษณะ แต่ถ้าว่าโดยพิสดาร จิตต้องรู้อารมณ์ถึง ๘๙ ประเภท เพราะมันต่างกันโดยอารมณ์ ก็ตามจำนวนจิตนั่นเอง ทำไมจึงเรียกว่าจิต ๘๙ ก็เพราะอารมณ์มันต่างกัน พิจารณาดู จิตเห็นก็จักขุวิญญาณ ๑ แล้วครับ จิตได้ยินก็โสตวิญญาณ จิตได้กลิ่นก็ฆานวิญญาณ ลิ้มรสก็ชิวหาวิญญาณ ถูกต้องทางกายก็โผฏฐัพพาวิญญาณ เห็นไหมครับ จิตมีชื่อแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง แต่ท่านรวมเพื่อจะให้ศึกษาได้โดยง่าย ว่าโดยสภาวะ สิ่งเหล่านั้นเป็นอารมณ์ทั้งหมด รวมอารมณ์ทั้งหมด แต่เมื่อจำแนกอารมณ์โดยพิสดารแล้ว อารมณ์คนละอย่าง เช่น สีก็อย่าง ๑ เสียงก็อย่าง ๑ สีนั้นเป็นอารมณ์ เสียงก็เป็นอารมณ์ เป็นคนละอย่าง คนละอย่าง

    ที่เราพูดนี้เราคงพูดมุ่งถึงเอาอย่างย่อ เอาแต่เพียงอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ช่างเถอะ จะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส อะไรก็ช่างเถอะให้เป็นอารมณ์ ดังนั้นท่านจึงกล่าวไว้โดยย่อว่า จิตมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ รู้อารมณ์ เป็นลักษณะครับ

    ผู้ฟัง แล้ว มนะ

    อ.สมพร มนะ ก็แปลว่ารู้เหมือนกัน มนธาตุเป็นไปในความรู้

    ผู้ฟัง จะเห็นว่า คำที่ ๒ แล้ว แปลว่ารู้ มนายตนะ

    อ.สมพร มนายตนะ รู้โดยการกระทบ ต่อ เช่น อายตนะ มันมีภายนอกภายใน ภายนอก ๖ ภายใน ๖ ก็เช่นอายตนะภายนอก ท่านเรียกว่ารูปายตนะ คือ สีนั่นเอง อายตนะภายนอกกระทบอายตนะภายใน คือ จักขายตนะ จักขุประสาทนั่นเอง ท่านเรียกว่าจักขายตนะ เมื่อเป็นอายตนะ ท่านเรียกจักขุประสาทนั้นว่า จักขายตนะ สีเมื่อเป็นอายตนะ ท่านเรียกว่ารูปายตนะ เมื่ออายตนะกระทบกัน ก็เกิดอายตนะอีกประเภท หนึ่ง เรียก มนายตนะ มุ่งถึงใจที่รู้อารมณ์ คือ รู้เมื่ออายตนะกระทบกัน เช่นเดียวกับท่านกล่าวว่า สีกระทบจักขุ เกิดวิญญาณ วิญญาณรู้แจ้งอารมณ์ทางตา เรียก จักขุวิญญาณ แต่ถ้าเป็นอายตนะ ท่านไม่ใช้จักขุวิญญาณ ท่านใช้ มนะ เป็นมนายตนะ ก็คือการรู้อารมณ์ที่มากระทบกันนั้นเอง

    ผู้ฟัง ทีนี้อีกอันหนึ่งที่อยากจะให้อาจารย์ให้คำจำกัดความ เพื่อจะเข้าใจคำว่ารู้แจ้งอารมณ์ คือ หทย

    อ.สมพร ที่เป็นไวพจน์ของจิตนี้ หทย หมายถึงอารมณ์ภายใน เช่น ภวังคจิตเกิดขึ้น มันเป็นอารมณ์ภายใน ไม่ได้รู้อารมณ์ภายนอกเลย ภายในที่เกี่ยวกับรับอารมณ์ต่อมาจากจุตินั่นเอง หมายความว่า จิตที่รู้อารมณ์เป็นจิตภายในตัวเรา ไม่ใช่จิตคนอื่น

    คำว่า “รูป” ก็เข้าใจกันดีแล้วว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้อารมณ์ ภาษาบาลีเป็นรูปัง แปลว่ารูป ธรรมชาติใดที่เกิดแล้วเสื่อมสลายเพราะปัจจัย มีความเย็นความร้อนเป็นต้น ธรรมชาตินั้นก็ย่อมแตกสลายไป ก็มีคำขัดแย้งนิดหนึ่ง ก็นามธรรมมันก็เสื่อมดับไปเหมือนกัน แต่นามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดดับตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว อย่างหนึ่ง แต่รูปนี้เกิดดับตามธรรมชาติอย่างหนึ่งด้วย เกิดดับเพราะปัจจัย มีความเย็นความร้อน และสัตว์มีพิษกัดต่อยเป็นต้น หลายอย่างด้วย

    ดังนั้นพระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงใช้คำว่า “รูป” ที่ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่า แตกสลายไป เพราะปัจจัยมีความเย็นเป็นต้น คือ ธรรมที่เป็นข้าศึกกัน ก็ต้องทำให้รูปนั้นแตกสลายไป นี่คือความหมายของคำว่า “รูป”

    ท่านอาจารย์ อาจารย์คงจะหมายความว่ารูปมีการทำลายได้ โดยที่จิตไม่มีใครจะไปทำลายได้ใช่ไหมคะ

    อ.สมพร รูปนั้นมีหลายอย่างที่ว่า เมื่อเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้น มันก็ทำลายไป เช่นร่างกายของเรา รูปร่างกายของเราแบ่งออกเป็นรูป ๒๗ ประเภท รูป ๒๗ ประเภทนี้ มันก็เกิดดับตามธรรมดาเรียกว่า ๑๗ ขณะแล้วก็ต้องดับไปๆ แต่บางครั้งบางคราว ถูกคนฆ่าให้ตาย สัตว์ทั้งหลายฆ่าให้ตาย ก็คือทำลายรูป แต่ไม่ใช่ทำลายนาม แต่เมื่อนามไม่มีที่อาศัยเกิด คือ ไม่มีรูปเกิด นามก็ต้องดับไปด้วย

    ดังนั้นพระอรรถกถาจารย์ท่านจึงมุ่งกล่าวถึงคำนี้ว่า รูปแตกสลายไปเพราะปัจจัยด้วย ไม่ใช่ตามธรรมดาของมันอย่างเดียว เพราะปัจจัย มีคนทำลาย แต่นามไม่มีใครทำลายได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ที่เราฆ่าสัตว์ ชีวิตตินทรีย์ เพราะรูปดับไป นามไม่มีที่อาศัยเกิด สัตว์นั้นจึงตาย ท่านมุ่งถึงอย่างนี้ครับ

    ท่านอาจารย์ คงไม่ได้หมายความถึงสภาพปรมัตถธรรมที่ลึกซึ้ง แต่คงหมายความถึงสิ่งที่ปรากฏที่พอให้เห็นว่า เป็นความต่างของนามธรรม และรูปธรรม อย่างรูปก็เป็นสิ่งที่ทำลายได้อย่างเอาไฟเผา หรืออะไรอย่างนี้ก็ เผาได้ แต่ว่านามธรรมคงไม่มีใครเอาไฟไปเผาได้ ก็พอจะเห็นได้ว่าเป็นรูปธรรม


    หมายเลข 8724
    22 ส.ค. 2567