สังขารโดยนัยต่างๆ
ผู้ฟัง อาจารย์คะ จิตเจตสิกรูปท่านว่าเป็นสังขารธรรม สังขารธรรมคืออะไร
อ.สมพร คำว่าสังขารธรรม ต้องหมายถึงทั้งหมด อย่าลืม สังขารธรรมกับสังขารขันธ์ต่างกัน สังขารธรรม ธรรมที่ปรุงแต่งด้วยปัจจัย ธรรมที่ปรุงแต่งด้วยปัจจัย รูปก็มี เวทนาก็มี สัญญาก็มี สังขารก็มี วิญญาณก็มี ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็หมายถึงขันธ์ ๕ ถ้าพูดถึงขันธ์ เช่น สังขารขันธ์ ก็หมายถึงเจตสิกอย่างเดียว เจตสิก ๕๐ อย่างเรียกว่าสังขารขันธ์ เพราะว่าขันธ์ทั้งหมดมี ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่นี่เราพูดถึงธรรม ไม่ใช่พูดถึงขันธ์ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ก็ต้องทั้งหมดเลย ทั้งรูป ทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่พูดขันธ์ พูดต่างกัน
ผู้ฟัง เรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ สังขารธรรม
ท่านอาจารย์ ก็สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วในหนังสือปรมัตถธรรม ก็มีคำว่า สังขารธรรม แล้วเวลาที่คุณนีน่าเขียนหนังสือก็ใช้คำว่าสังขารธรรมด้วย ก็ได้รับคำติงจากพระภิกษุที่ท่านรู้ภาษาบาลีชาวต่างประเทศ คือ ท่านบอกว่าไม่มีคำว่า สังขารธรรม เพราะเหตุว่าแม้แต่ภาษาบาลีที่ว่า สัพเพสังขารา ก็ไม่ได้ใช้คำว่าสังขารธรรม ใช่ไหมคะ
อ.สมพร คือ สัพเพสังขารา สัพเพสังขารา ทุกขา สัพเพสังขารา อนิจจา สัพเพธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหมดทั้งปวง สังขาร กับธรรม จึงต่างกัน สัพเพสังขารา สังขาร
สัพเพธัมมา ธรรมทั้งปวง สังขารกับธรรม จึงมีอรรถที่กว้าง และแคบต่างกันไป พระธรรมหมายความถึงทั้งหมด ทั้งสังขารด้วย
ทีนี้ท่านบอกว่า คำว่าสังขารๆ เราพิจารณาดู ที่เขาบอกว่า บางที่เขาใช้ศัพท์ว่าสังขตธรรม บางทีก็ใช้ สังขารธรรม ก็ใช้ได้ เพราะว่า สังขต แปลว่าปรุงแต่งแล้ว สังขารก็แปลว่าสภาพที่ปรุงแต่ง ไม่ได้บอกว่าแล้ว มันก็ต่างกันนิดเดียว ศัพท์เดียวกันนั้นนะครับ แต่ก็ใช้ได้ เราจะใช้สังขตธรรม ตามที่เขานิยมก็ได้ หรือเราจะใช้สังขารธรรม ธรรมคือการปรุงแต่ง ทุกอย่างมันมีการปรุงแต่ง ก็มี ๔ อย่าง ขันธ์ ๕ นั้นเองปรุงแต่งด้วยปัจจัย
ท่านอาจารย์ ค่ะ อย่างสังขารธรรม หมายความถึง ธรรมทั้งหมดที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วเป็นสังขตธรรม คือ ปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงได้เกิด แต่ว่าสำหรับสังขารขันธ์ หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ เพราะว่าปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป สงเคราะห์เป็นขันธ์ ๕ รูปทุกชนิด รูปทุกรูป เป็นรูปขันธ์ เพราะว่าบางท่านเข้าใจความหมายของขันธ์ ขันธ หรือขันธ์ เป็นกอง หมายความถึงกอง ก็เลยคิดว่า ต้องเป็นกองโดยที่เอามารวมกัน ถึงจะเป็นกองหนึ่งๆ แต่ความจริงกองของรูป ได้แก่ รูปทุกรูปอยู่ในกองรูป ไม่ใช่อยู่ในกองอื่น
เพราะฉะนั้นรูปทุกชนิดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ ในเจตสิก ๕๒ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ เป็นสภาพความรู้สึกที่ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ เฉยๆ สัญญาเจตสิก ๑ ใน เจตสิก ๕๒ เป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ได้แก่เจตสิก ๕๐
ความต่างกันของสังขารธรรมกับสังขารขันธ์ก็คือว่า สังขารธรรมหมายรวมจิต เจตสิก รูป ทั้งหมดที่มีปัจจัยปรุงแต่ง แต่สังขารขันธ์หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ ดวงซึ่งปรุงแต่งจิต ซึ่งต่างกับเวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์
ผู้ฟัง จะสรุปว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม สังขารธรรม สังขตธรรม เหมือนกัน ตามที่ท่านวิทยากรบอก ก็คือเกิดดับ ปรุงแต่งตามเหตุปัจจัย เอาง่ายๆ อย่างนี้ก่อน ทีนี้ ดิฉันก็เลยนึกไปว่า เรามีอยู่ ๔ ตัวปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวลานี้เราพูดว่า จิต เจตสิก รูปนั้นเป็นสังขารธรรม นิพพานจะเป็นตัวอะไรคะท่านอาจารย์สมพร
อ.สมพร นิพพานก็เป็นวิสังขารธรรม เป็น วิ ไม่มี หมายความว่าปราศจากสังขาร เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง วิสังขาร วิ แปลว่าปราศจาก เป็นธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่ง คือมันคู่กัน สังขารธรรม วิสังขารธรรม ถ้าเราใช้คำอย่างนี้ หรือเราจะใช้คำ สังขตธรรม ถ้าเราใช้อย่างนี้เราก็ต้องใช้คู่กันไป เพราะเราใช้ ในนิพพานใช้วิสังขาร
ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นสังขตธรรมล่ะคะ
อ.สมพร เราเรียกว่า อสังขตธรรม หรืออสังขตธาตุ ธาตุที่ไม่มีการปรุงแต่ง ธาตุทุกอย่างมีการปรุงแต่ง เข่น จิต เจตสิก รูป มีการปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะปัจจัย แต่พระนิพพานนั้นไม่มีการปรุงแต่ง ปราศจากการปรุงแต่ง ท่านจึงเรียกว่า “วิสังขาร” ปราศจากการปรุงแต่ง วิสังขารธรรม ธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่ง คือไม่มีการปรุงแต่งด้วยปัจจัย เป็นของที่มีอยู่จริง เหลือวิสัยของคนธรรมดาที่จะรู้ได้ เว้นพระอรหันต์หรือพระอริยะเท่านั้น
ผู้ฟัง ขอข้อคิดจากท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังที่บอกว่าภาษาบาลียาก แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจความหมายไปด้วย ก็คงจะจำได้ อย่างคำว่า “สังขารธรรม” คนไทยก็ได้ยินบ่อยๆ แต่ว่าไม่ใช่หมายเฉพาะร่างกายที่เป็นสังขาร หมายความถึงจิต เจตสิก รูปซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นสภาพปรมัตถธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เพียงเพิ่ม อาจารย์ใช้คำว่าอุปสรรค ใช่ไหมคะ ในภาษาบาลี
อ.สมพร พยัญชนะข้างหน้า เรียก อุปสรรค
ท่านอาจารย์ เติม วิ เข้าไปสำหรับนิพพาน เป็นวิสังขารธรรม และถ้ากล่าวถึงสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม สังขารธรรมกับสังขตธรรมเหมือนกัน เป็นสภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นนิพพานก็ตรงกันข้าม คือ อสังขตธรรม ก็คงจะไม่ยากเกินไป ๔ คำ สังขารธรรม วิสังขารธรรม สังขตธรรม อสังขตธรรม
แล้วสำหรับสังขารธรรม สังขารขันธ์เมื่อกี้นี้ ก็ขอเติมอีกนิดหนึ่งเพื่อความเข้าใจ เผื่อว่าท่านผู้ฟังจะพบในที่อื่น คือ สังขารในปฏิจจสมุปปาท ไม่ได้หมายถึงเจตสิก ๕๐ ดวงที่เป็นสังขารขันธ์ แต่หมายความถึงอภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ได้แก่ เจตนาเจตสิกเท่านั้น ถ้าเป็นสังขารหรืออภิสังขารในปฏิจจสมุปปาท
นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องค่อยๆ ศึกษาถึงเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งจะละเอียดขึ้นๆ แต่ละเอียดสักเท่าไร ก็ยังไม่เท่ากับสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประมวลลักษณะของจิต เช่น ที่ทรงแสดงว่า โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แต่ขอให้นึกถึงโลภมูลจิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละคน และก็ทุกวันๆ ที่เพิ่มขึ้นว่า ต่างกันวิจิตรมากน้อยเท่าไร แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามโดยพระปัญญาคุณ ก็ทรงประมวลว่า ไม่ว่าจะต่างกันสักเท่าไร ในแสนโกฏิจักรวาล ไม่ว่ามนุษย์มีสักเท่าไรก็ตาม ประมวลประเภทของโลภมูลจิตแล้วก็มีอยู่ใน ๘ ประเภท นั่นเอง
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตามที่ได้ศึกษา โดยพยัญชนะ และตามความเป็นจริง ก็แสดงให้เห็นว่า นับจิตไม่ได้ มีมากเยอะแยะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เวลาที่มีการระลึกรู้ ก็จะต้องเป็นเวลาที่เป็นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงประมวลไว้นั่นเอง