พระธรรมคุณ ๖ ประการ


    ท่านอาจารย์ แม้แต่การศึกษาพระอภิธรรม ถ้าจะสอดคล้องกับแง่อื่น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างเพียงคุณของพระรัตนตรัยหรือพระธรรมคุณ ขอให้เข้าใจจริงๆ ประโยชน์ก็ย่อมมาก ตั้งแต่ข้อความเบื้องต้นที่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว แสดงแล้ว แน่ใจได้เลย ว่าต้องเป็นของจริง ซึ่งบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะแสดงได้

    นอกจากนั้นก็ยังเป็นสิ่งซึ่งสันทิฏฐิโก สามารถที่จะเห็นจริงๆ ได้ ไม่ใช่ของลวง ไม่ใช่ของหลอก แต่เป็นของจริง ลักษณะของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร บุคคลที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สติระลึกแล้ว ย่อมสามารถที่จะเห็นสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ สันทิฏฐิโก

    อ.สมพร ใช่ครับ สันทิฏฐิโก แปลว่า บุคคลผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้เอง

    ท่านอาจารย์ แล้วเอหิปัสสิโก

    อ.สมพร เอหิปัสสิโก แปลว่าควรน้อมเข้ามาดู เข้ามาดูหรือเข้ามาเห็น อะไรอย่างนี้ ก็นัยอย่างนี้ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ควรจะดู ที่ว่าควรจะเรียกให้มาดู หมายความว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแล้วอย่าทิ้ง ควรที่ทุกคนจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ควรจะดู โอปนยิโก น้อมเข้ามาในตน เวลาจะดู จะดูที่ไหน ไม่ใช่ดูที่คนอื่น ธรรมทั้งนั้นเลย คนนั้นก็อิสสา คนนั้นริษยา นั่นไม่ใช่ค่ะ แต่ว่าที่ควรจะดู หรือว่าที่ควรจะน้อมเข้ามาดูที่ตนเอง แล้วจึงจะเป็นปัจจัตตัง หมายความว่ารู้ได้เฉพาะตน

    อ.สมพร ให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายอีกนิดหนึ่งนะครับ คำว่า เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูหรือเห็น มันเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นคุณของโลกุตตรธรรม ซึ่งต้องมีคุณมาก สมควรแก่การที่จะดู หรือที่จะประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่าทุกคนมักจะอยากดูอย่างอื่น อยากจะรู้อย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรดูอย่างยิ่ง หรือควรที่จะเห็น ควรที่ประจักษ์อย่างยิ่งนั้นก็คือโลกุตตรธรรม

    ด้วยเหตุนี้โลกุตตรธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควรที่จะดู ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า หรือไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไม่มีประโยชน์เลย ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้ฟังได้ยินเรื่องวิชาการอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องไม่ลืมว่าวิชาการที่สูงที่สุด ที่เป็นประโยชน์ที่สุด ที่ควรที่สุดที่จะได้เห็นได้ดูนั้นก็คือ โลกกุตตรธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วเราก็กำลังพยายามอยู่ ที่จะได้เข้าไปดูโลกุตตรธรรม แล้วก็คงจะไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นพระธรรมที่มีประโยชน์มาก แล้วก็เริ่มจากการฟัง ให้เข้าใจสภาพที่เป็นอภิธรรมก่อน

    อ.สมพร พระคุณข้อที่ ๔ ว่าแล้วนะครับ คือ เอหิปัสสิโก ข้อที่ ๕ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน คำว่าควรน้อมเข้ามาในตนนี้ ก็จะต้องเป็นของสำคัญเหมือนกัน ไม่ใช่สำคัญแล้วก็เอาทิ้งไปดีกว่า โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา คือธรรมของพระพุทธเจ้าควรน้อมเข้ามาในตน เรียกว่า โอปนยิโก ความจริงก็อัศจรรย์เหมือนกัน ทั้งหมดมี ๖ ข้อด้วยกัน อัศจรรย์ทั้งหมด เพราะว่าควรน้อมเข้ามาในตน

    คราวนี้ก็ยังเป็นปัญหา คำว่าตน ก็น้อมเข้ามาในตน น้อมมาอย่างไร ถึงเรียกว่าน้อมมาในตน แล้วสิ่งที่น้อมมานั้น คืออะไรครับ ก็ขอเชิญท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกท่านอาจจะเกี่ยง คือว่าขอให้คนอื่นศึกษา แล้วก็ขอให้คนอื่นแก้กิเลส ละกิเลสของคนนั้นๆ เวลาที่เห็นกิเลสของใครมากๆ ก็คิดเลยว่า นี่ควรจะทำอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนี้ คิดถึงแต่กิเลสของคนอื่น แล้วก็พยายามที่จะแก้กิเลสของคนอื่น ลืมว่าธรรมทั้งหมดควรน้อมเข้ามาในตน พิจารณาตน เข้าใจจิต เจตสิก รูป ธรรมที่มีที่ตน แล้วก็จะทำให้สามารถที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ถ้าตัวของท่านเองยังไม่มีวิธีที่จะน้อมธรรมนั้นมาประพฤติปฏิบัติด้วยตน แม้ว่ายังจะกล่าวธรรม แสดงธรรม อย่างไรๆ ก็ตาม ผลก็คือว่า ต่างคนก็ต่างยกให้คนอื่นไปปฏิบัติ โดยที่ตัวเองไม่ปฏิบัติ อย่างเช่น ความโกรธ เวลาที่จะสอนคนอื่น ก็อาจจะมีวิธีหลายวิธีที่จะสอนไม่ให้คนนั้นโกรธ เป็นโทษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาตนเองโกรธ น้อมธรรมเข้ามาประพฤติปฏิบัติในตนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่คือคุณของพระธรรมที่แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า ประโยชน์แท้จริงนั้นอยู่ที่ เมื่อได้เห็นคุณค่าของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วก็คือว่า น้อมประพฤติปฏิบัติเอง ด้วยตนเองจริงๆ ไม่ใช่คอยแต่จะให้คนอื่นโกรธน้อยลง หรือว่าให้มีความดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะที่กำลังพูดถึงความไม่ดีของคนอื่น น้อมธรรมที่ได้ฟังเข้ามาในตนสามารถที่จะระลึกได้ทันที ว่าจิตที่กำลังกล่าวถึงความไม่ดีของคนอื่นในขณะนั้นเป็น จิตอะไร

    นี่คือประโยชน์อย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้วการศึกษาพระอภิธรรมเชี่ยวชาญมาก ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่น้อมพระธรรมนั้นมาประพฤติปฏิบัติจริงๆ

    อ.สมพร อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้โดยเฉพาะ รู้ได้อย่างไร คนอื่นรู้ไม่ได้หรืออย่างไร เช่น เราอธิบายให้คนอื่น คนอื่นรู้ไม่ได้หรืออย่างไร หรือเฉพาะเราคนเดียวรู้ได้อย่างนี้มันก็ไม่ตรงใช่ไหมครับ เชิญครับอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ท่านผู้ฟังกำลังคิดอะไรคนอื่นทราบได้ไหม คำตอบบางทีก็ง่ายๆ สั้นๆ คือหมายความว่าแต่ละคนก็แต่ละจิตแต่ละใจ เพราะฉะนั้นขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังเกิดขึ้นปรากฏเป็นไปกับบุคคลใด บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องเฉพาะตนจริงๆ ซึ่งเมื่อผู้ใดสามารถที่จะเข้าใจธรรม สติระลึก และรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้ว ผู้อื่นซึ่งสติไม่เกิด ไม่มีการศึกษา ไม่มีการพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่สามารถจะรู้ในสภาพธรรมที่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้วสามารถที่จะรู้ได้

    อ.สมพร เป็นอันว่าพระธรรมคุณทั้งหมดมี ๖ ข้อ ก็วันนี้กล่าวไปหมดเลย ๖ ข้อ


    หมายเลข 8728
    22 ส.ค. 2567