อยาก ๑ - ความอยาก แทนที่จะเข้าใจ


    คุณอดิศักดิ์ ในขณะที่จิตเรากำลังรับอารมณ์ เมื่อเรารับอารมณ์ สังขารขันธ์ก็กำลังปรุงแต่ง ทีนี้จะปรุงแต่งไปในทางไหน ถ้าเรามาศึกษาธรรมแล้ว สังขารขันธ์สามารถปรุงแต่งให้สติ และปัญญาระลึกรู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์

    ทีนี้สังขารขันธ์ของพวกเราก็ยังไม่ปรุงแต่งกันเท่าไร หรือทำอย่างไรสังขารขันธ์จึงจะปรุงแต่งให้มีสติ อย่างที่พูดกันบ่อยๆ คือ ให้มีสติมากๆ ก็เลยอยากจะถามท่านอาจารย์สุจินต์ ช่วยอธิบายว่าทำอย่างไร สังขารขันธ์จึงจะปรุงแต่งให้สติเกิดมากๆ ครับ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ความอยาก แทนที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่า แทนที่เราจะคิดถึงความอยาก ควรจะให้ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นสมุทัย หรือว่าเป็นเหตุของสังสารวัฏฏ์ ซึ่งรู้ยากจริงๆ เห็นยาก แล้วก็ละยาก คือ โลภะ เพราะเหตุว่าโลภะ ความอยาก หรือความต้องการ จะต้องการแม้ในธรรมที่เป็นฝ่ายดี หรือที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านผู้ฟังต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในชีวิตประจำวัน ก็แทบจะไม่รู้แล้วว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการ แล้วเวลาที่รู้เรื่องของกุศลจิต ก็เปลี่ยนจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นความต้องการกุศล ชอบกุศล อยากได้กุศล ทำอย่างไรถึงจะมีกุศลมากๆ อันนี้ก็จะไม่พ้นจากมิจฉาปฏิปทา เพราะเหตุว่ายังเป็นไปในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้นควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจธรรมแทนที่ “อยาก” แทนที่อยากจะมีปัญญา หรือว่าอยากจะมีสติ หรือว่าอยากจะมีกุศล ก็ควรจะเป็นเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่กำลังเข้าใจเป็นสังขารขันธ์ แล้วก็เป็นสติปัฏฐาน ทำให้สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วแยกความอยาก ซึ่งเป็นอกุศล ออกจากธรรมฝ่ายกุศลได้

    เรื่องความอยากนี้ก็เคยมีผู้ที่โทรศัพท์ไปถามว่า เวลาที่อยากทำกุศล ทำไมถึงเป็นอกุศล ขณะที่อยากทำกุศล ทำไมอยากนั้นจึงเป็นอกุศล ในเมื่อเขาต้องการกุศลเป็นไปในกุศล

    สภาพของจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วก็ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เห็นความต่างกัน ขณะที่กำลังอยากกับขณะที่ทำกุศล ไม่เหมือนกัน กำลังอยาก กำลังต้องการ อย่างบางคนก็บอกว่า อยากบวช ขณะนั้นแสดงว่า ไม่ได้บวช แต่ว่าอยากบวช ขณะนั้นเป็นคฤหัสถ์แล้วก็อยากบวช ขณะที่กำลังอยาก จิตใจเป็นอย่างไร ต้องไม่สงบ ต้องมีความลำบากใจ เพราะว่าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะเหตุว่าอยากจะบวช แต่ไม่ได้บวช หรือว่าบางคนก็บอกว่าอยากจะใส่บาตร ก็แสดงว่าขณะนั้นก็ไม่ได้ใส่บาตร และขณะนั้นก็ต้องเป็นความไม่สบายใจที่อยากจะทำ แล้วไม่ได้ทำ

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่เป็นความสงบ แล้วก็ไม่เป็นความเบาสบายด้วย ขอให้เปรียบเทียบว่าถ้าท่านตั้งใจจะใส่บาตร ตั้งใจ ไม่เหมือนอยากจะใส่ ตั้งใจเป็นเจตนา เป็นกุศลเจตนา แล้วถ้าพรุ่งนี้ท่านจะใส่บาตร ท่านตั้งใจแล้วว่า พรุ่งนี้จะใส่บาตร จิตใจของท่านจะผ่องใส ปีติ ดีใจ โสมนัส ที่มีโอกาสพรุ่งนี้จะได้ใส่บาตร หรือว่าพรุ่งนี้จะได้ทำกุศลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นแล้ว

    เพราะฉะนั้นสภาพของจิตต่างกับขณะที่อยาก ไม่ว่าอยากจะใส่บาตร หรือว่า อยากจะบวช หรืออะไรก็แล้วแต่

    นี่แสดงให้เห็นการเกิดดับสืบต่อของจิตอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นขณะที่ศึกษาพระธรรม ไม่ควรที่จะคิดถึงเรื่องความอยากเลย แม้แต่อยากจะเข้าใจธรรม หรือว่าอยากจะมีสติ แต่ควรที่ขณะนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ขณะที่เข้าใจนั้นเป็นกุศล

    เรื่องของสติปัฏฐานก็เหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องที่ว่าพอได้ยินสติปัฏฐานแล้ว อยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ แต่ขณะนี้ มีตากำลังเห็น หูกำลังได้ยิน คิดนึกกำลังเป็นไป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏ ไม่ต้องอยากอะไรเลย ถ้าเป็นกุศลจิต ก็คือว่า ขณะนั้นกำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น อาทิตย์ก่อนก็ฟังแล้วว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจลักษณะของธาตุรู้ ก็ควรที่จะเปรียบเทียบกับรูปง่ายๆ เช่น โต๊ะไม่เห็น เพราะฉะนั้นเห็นต้องเป็นสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเป็นของจริง มีจริงๆ ขณะนี้กำลังเห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงธาตุรู้ ลักษณะรู้ หรือสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ซึ่งวันหนึ่งๆ ไม่เคยสังเกต ไม่เคยระลึกได้ ไม่เคยพิจารณา

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฟัง การฟังทำให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ ค่อยๆ เริ่มที่จะรู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นเรื่องอยากนี่ก็ตัดออกไป แล้วก็ให้เป็นความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นขั้นฟังเรื่องของสภาพธรรม หรือตัวจริงๆ ของธรรมที่กำลังเห็น แล้วขณะนี้ก็กำลังค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ หรือที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งตามปกติ ก็ให้ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ โดยไม่ต้องอยาก กำลังเข้าใจนั่นแหละจะทำให้ไม่คิดอยาก เพราะเหตุว่ากำลังค่อยๆ เข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ครับ ถ้าไม่มีความอยากอะไรเลย มันก็ไม่มีสิ่งมากระตุ้น เราก็ไม่อยากทำกุศล ไม่อยากทำอะไร มันก็อย่างไรอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนกัน คือ ความตั้งใจที่จะทำกุศลกับความอยากต่างกันมาก ถ้าอยาก เพียงแต่คิดแล้วไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นก็ไม่สงบ กำลังอยากต้องไม่สงบแน่ๆ แต่ขณะที่กำลังตั้งใจ อย่างเมื่อได้ทราบเรื่องของบารมี ๑๐ แล้วก็พิจารณาดูว่า ยังขาดบารมีอะไรบ้าง แล้วก็มีความคิดว่า บารมีนี้ควรจะบำเพ็ญให้มากขึ้น เช่น ความอดทน หรือความตั้งใจมั่น ขณะที่ตั้งใจที่จะมีบารมี ไม่ใช่อยาก แต่ว่าเป็นเจตนาที่ตั้งใจ เพราะฉะนั้นเป็นกุศลเจตนา

    ผู้ฟัง ถ้ายังนั้นก็คงจะเป็นว่า เรามีความตั้งใจอยากจะทำกุศล

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องใช้อยากด้วยล่ะคะ ตั้งใจทำ

    ผู้ฟัง เจตนาที่จะทำกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ตั้งใจ หมายความต้องตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่เหมือนกับอยาก อยากกับตั้งใจไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง อยากกับตั้งใจไม่เหมือนกันนะครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ทราบท่านผู้ฟังพอที่จะแสดงคิดเห็นอย่างไร ในเรื่องของอยากกับตั้งใจ เพราะเหตุว่าลองเปรียบเทียบ พรุ่งนี้ท่านจะใส่บาตร ต้องอยากไหมคะ ในเมื่อเราตั้งใจแล้ว ตั้งใจแล้ว ยังจะต้องอยากอะไรอีก เป็นแต่เพียงว่า เมื่อตั้งใจแล้วก็ลงมือทำ ทุกอย่างที่จะเกี่ยวกับการกุศลอันนั้น แต่ถ้าอยาก หมายความว่า ยังรออยู่ ยังไม่มีวันกำหนดเรื่องของกุศลจริงๆ ที่จะทำ อย่างท่านที่คิดอยากจะสร้างศาลา หรือสร้างโบสถ์ ท่านยังไม่ได้ทำ ท่านอยาก หรืออยากทอดกฐิน ก็ยังอยาก ยังไม่ได้คิด แต่พอตั้งใจจะทำแล้วไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์คะ ยังไม่สำเร็จก็เป็นกุศลหรือคะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ขณะจิต ซึ่งเกิดดับเร็ว

    ตุณอดิศักดิ์ คำว่า “อยาก” เป็นพยัญชนะที่ใส่เข้าไปเท่านั้น แต่ถ้าอยากจริงๆ ถ้ามีความหมายว่าอยากจริงๆ ขณะนั้นจะต้องอยากใส่บาตร เพื่ออยากจะถูกหวยถูกลอตเตอรี่ หรืออยากใส่บาตรเพื่อจะได้บุญ อยากใส่บาตรเพื่อจะเกิดชาติหน้าได้ร่ำรวย นี่เพิ่มความอยากเข้าไปเรื่อย อย่างเช่นทั่วๆ ไปเวลาไปไหว้พระ หรือไปทำบุญอะไรๆ ก็อยากจะร่ำรวย อยากจะเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน ยศถาบรรดาศักดิ์ อันนี้ถึงจะเป็นอยากจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าคงจะเป็นฉันทะมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องตรง เพราะฉะนั้นไม่มีอนุโลม

    ดิฉันมีความคิดว่า ไม่ใช่เราศึกษาพระธรรมแล้วเราก็จะปฏิบัติตามนั้น แต่หมายความว่า ธรรมเป็นไปแล้วอย่างนั้น แต่เวลาศึกษาพระธรรมทำให้เราเข้าใจขึ้นว่า ขณะไหนเป็นกุศลจริงๆ และขณะไหนเป็นอกุศล ซึ่งก่อนจะศึกษาพระธรรม สภาพธรรมก็ต้องเป็นความจริงไปอย่างนั้น เราต้องสังเกตพิจารณาจิตใจ เพราะเหตุว่าธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ทำให้สงบสบาย เพราะฉะนั้นขณะที่อยาก สังเกตสภาพของจิตใจได้ ว่าสบายหรือเปล่า สงบหรือเปล่า กังวล หรือว่าต้องการหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งซึ่งไม่สงบแล้วก็ต้องเป็นอกุศลแน่นอน แต่ขณะที่เราตั้งใจจะทำ ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนาแน่นอน แล้วก็ไม่ทำให้เรารู้สึกว่ากระวนกระวายด้วย เพราะเหตุว่ามีความคิดที่จะทำ เป็นกุศล


    หมายเลข 8732
    22 ส.ค. 2567