อยาก ๒ - ลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ถ่องแท้
อ.สงบ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์สมพรมีอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่าครับ
อ.สมพร เรื่องความอยากเป็นเรื่องวิจิตรพิสดาร ผมจะกล่าวลำดับนิดหนึ่ง ความอยากในอารมณ์ทั้ง ๖ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรม ในธรรม ก็หมายความ ท่านเรียกว่า ธรรมตัณหา ยินดีในธรรม ยินดีอย่างไรจึงเรียกว่ายินดีในธรรม จึงเป็นตัณหา ยินดีอย่างไรไม่เป็นตัณหา
นี่เป็นปัญหาเหมือนกัน เช่นเราเห็นคนเขาถูกลอตเตอรี่ แล้วเขาบอกว่า เขาทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็ถูกลอตเตอรี่ เราก็มีความอยากถูกลอตเตอรี่เหมือนกัน เราก็ทำบุญ อย่างนี้ก็เป็นตัณหาแน่นอน ทำบุญด้วยความอยาก แต่ว่าคนละขณะ ขณะที่ให้ ขณะที่อยาก คนละขณะ แต่โดยมากเป็นไปโดยอำนาจของตัณหาทั้งสิ้นเลย เรียกว่า “ธรรมตัณหา” ธรรมก็คือธรรม ยินดีในธรรม ในเรื่องในราว เช่น ในการรักษาศีล ในการให้ทาน หรือในการอื่นๆ อีกหลายๆ อย่าง แต่บางคนทำบุญไม่เกี่ยวกับตัณหา เราจะเห็นได้ เช่น เราเห็นเด็กเล็กๆ แล้วเราก็เมตตาสงสาร เราก็ให้ทาน แล้วจะเห็นได้ว่า การให้ทาน การทำบุญของเราอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับตัณหาเลย เป็นการพอใจในการให้ทาน อย่างนี้เป็นฉันทะ แยกออกจากกันได้เด็ดขาดเลยว่า ตัณหากับฉันทะนั้นต่างกัน แต่ใกล้กัน ใกล้กันเหลือเกิน ตัณหากับฉันทะ ผมก็มีความเห็นแค่นี้ครับ
อ.สงบ ก็คงเป็นว่าในการทำกุศลต่างๆ นะครับ แต่โดยสรุปของท่านอาจารย์สมพรก็คือว่า ถ้าเป็นฉันทะคือพอใจที่จะให้ทานด้วยเจตนาที่เป็นกุศล โดยไม่มีอกุศลอะไรที่เป็นเบื้องหลัง ตัณหา คือ ความปรารถนาอย่างแรงกล้า ได้สิ่งตอบแทนมา ผมคิดอย่างนี้ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์สุจินต์จะมีอะไรเพิ่มเติมไหมครับ
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่าความละเอียดของธรรมลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ถ่องแท้ เพราะเหตุว่าแม้แต่เรื่องของความอยาก เป็นเพียงเรื่อง ก็ยังเข้าใจยาก แล้วถ้าเป็นตัวจริงๆ ขณะนี้ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นกุศล และอกุศลเกิดสลับกันได้
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จริงๆ จนประจักษ์แจ้ง ต้องยากกว่าเรื่องที่เราจะพูดถึงความอยาก เช่น ขอพูดเรื่องเวลาที่ตั้งใจแล้วจะทำบุญ ก็ยังเกิดความคิดว่า สำหรับผู้ที่จะทำอาหาร ก็คิดว่าจะทำอะไรบ้าง
นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตต้องละเอียดที่จะรู้ว่า กำลังคิดด้วยกุศลจิต หรือว่ามีอกุศลจิตแทรก เพราะว่าอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ หรือว่าจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงความคิดก็ยังสลับกันไปสลับกันมาระหว่างกุศลกับอกุศล หรือแม้แต่ขณะที่ปรุงอาหาร ปรุงอาหารเพื่อที่จะถวายพระในการกุศล ขณะนั้นก็มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตสลับกัน เค็มไปก็เป็นอกุศลเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะรู้ได้แม้แต่คำ เรื่องที่จะยกตัวอย่าง ก็ยังเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัตตัง
เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะรู้ชัด ตรง ตามสภาพธรรมจริงๆ ก็ต้องอาศัยสติที่ระลึก แล้วแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนเสียก่อน แล้วถึงจะรู้ความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งแม้เป็นนามธรรมก็ต่างกัน จนกว่าจะรู้จริงๆ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องของความอยาก ซึ่งเราคิดว่าง่าย แต่ความจริงแล้วไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันซึ่งปะปน อยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็แทบจะไม่รู้แล้วว่า เป็นโลภะ เป็นอกุศล แล้วยิ่งเป็นกุศลแล้วอยาก ก็ยิ่งไม่อยากจะรู้เลยว่าเป็นอกุศล ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าเคยเข้าใจว่า เป็นอกุศลอย่างมากๆ แล้วก็จะมากลับมีความละเอียดว่า แม้แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นอกุศล หรือข้อความที่ว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะเหตุว่าถ้าขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถึงแม้จะเจริญกุศลถึงขั้นอรูปฌาน เมื่อไม่ใช่เป็นทางออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา