โลภะที่มีความเห็นผิดและที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วม
อ.ธิดารัตน์ ถ้ามีการยึดถือว่าเป็นลูกหรือใครก็ตามที่เป็นญาติเรา เป็นเขาแน่ๆ อย่างนั้นจะเป็นความเห็นผิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ โดยมากอยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยที่สภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏกับสติ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเรื่องอยู่ตลอด ฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวว่าขณะใดเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตต้องกล่าวถึงอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งที่จิตขณะนั้นกำลังรู้ด้วย เช่นเห็นดอกไม้เห็นสีสันวัณณะ ชอบไหม ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ เราใช้คำว่า “ดอกไม้” จริง แต่ต้องมีสิ่งที่ปรากฏที่เราจะเรียกว่าดอกไม้ ถ้าไม่มีสีเลยสักอย่างเดียว เราจะจำแนกออกได้ไหมว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นดอกไม้ เป็นอะไร ฉะนั้นในขณะที่เรากำลังบอกว่าเราชอบดอกกุหลาบ เราชอบดอกกล้วยไม้ แท้ที่จริงก็มีสีที่ปรากฏหลากหลายต่างกัน ซึ่งขณะนั้นโลภะกำลังพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏคือในสี เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ถ้ามีไม่แคล้วเลย ทุกขณะจิตต้องมี แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย โลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี โลภะที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี เพราะฉะนั้นเพียงการฟังเราไม่สามารถที่จะรู้ได้หรือกล่าวได้ จนกว่าเมื่อสิ่งนั้นกำลังเป็นอารมณ์ของสติ มีลักษณะปรากฏ แล้วถึงจะรู้ว่าในขณะที่กำลังมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ปัญญาซึ่งเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพจิตนั้นได้ว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะว่าขณะที่กำลังพอใจสีสันวัณณะต่างๆ ขณะนั้นมีสีรูปหนึ่งที่ปรากฏทางตากำลังเป็นที่พอใจของโลภะ ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม (ไม่มี) นี่ก็คือต้องพิจารณาแต่ละขณะอย่างละเอียด แต่ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากรูปที่ปรากฏ รูปนั้นยังเป็นเรา แม้ขณะนั้นก็ตาม ต้องมีสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความเห็นผิดที่ยึดถือว่ายังมีเราอยู่ รูปนั้นยังเป็นเรา
เพราะฉะนั้น เราก็จะเข้าใจความหมายว่ายึดถือรูปว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพียงแต่เรากล่าวโดยประเภท ว่า โลภมูลจิต ๘ ก็มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ แต่จริงๆ แล้วต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนั้นโลภะกำลังติดข้องในอารมณ์อะไร จึงจะรู้ว่าขณะนั้นจริงๆ มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่มี หรือว่าเป็นเพียงโลภะอย่างที่เราชอบดอกไม้ต่างๆ ชอบขนมอร่อยๆ ขณะนั้นกำลังพอใจในรส กำลังติดข้องในรส ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ก็จะรู้ได้ แต่ขณะอื่นที่ไม่ใช่ขณะนั้น กำลังมีความเห็นผิดไหม เราจะถามได้ สนทนากันได้กับผู้ที่มีความเห็นต่างๆ ก็จะรู้ว่าคำใดที่กล่าวออกมาด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นจิตจะต้องยึดถือความเห็นนั้นจึงมีความติดข้องในความเห็นนั้น
ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักคำสอนหลากหลาย และก็มีผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยที่จะมีความเห็นผิด และมีความเห็นถูกต่างๆ กัน ถ้าเป็นความเห็นผิดก็หลากหลายมาก อย่างร่ายมนต์เมื่อวานนี้ เห็นผิดหรือไม่ มนต์คืออะไรก็ไม่รู้ คำนั้นหมายความอะไรก็ไม่รู้ แต่พอใครร่ายมนต์ก็คิดว่าเขารู้ และก็ถูกหรือผิดขณะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด และถ้าเขากล่าวถึงมนต์นั้นยิ่งจะเห็นได้ชัดว่าคำกล่าวนั้นกล่าวโดยความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็แสดงว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามปกติ เพราะฉะนั้นโลภะจึงมี ๘ มิฉะนั้นก็จะต้องมีเพียง ๔
ที่มา ...