ความเห็นผิดมีมากมายหลายอย่าง -พฐ.118
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรื่องของความเห็นผิดก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ตามความเป็นจริงว่ามีความเห็นผิดมากมายหลายอย่าง และแต่ละวันเรามีความเห็นผิดประเภทไหนบ้าง
ผู้ฟัง เห็นผิดในทาน ในศีล ก็มีใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เช่น เห็นผิดว่าอย่างไร
ผู้ฟัง เห็นผิด ว่าโลภมูลจิตที่เกิดขึ้น คือ จะไปทำบุญ จะไปเอาบุญเยอะๆ ทำอย่างนี้จะได้อย่างนี้ อย่างนั้นจะเป็นโลภมูลจิตเหมือนกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ที่จะเกิดร่วมกับความเห็นผิดใช่หรือไม่ เพราะตอนนี้เรากำลังพิจารณาถึงอกุศลที่เป็นโทษมากที่สุดคือทิฏฐิความเห็นผิด
ผู้ฟัง และกรณีอย่างนั้นจะไม่ใช่ความเห็นผิด ในทาน ในศีลอย่างนี้ ใช่ไหม
อ.วิชัย เห็นผิดในที่นี้ คือ เห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น ให้ทาน รักษาศีล ไม่มีผล
ผู้ฟัง แต่นี่ให้ผลเกินคาด ถ้าไปอย่างนี้สัก ๑๐ วัน จะต้องได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ถ้าทำทานแบบนี้ สร้างพระหน้าตักร้อยนิ้ว พันนิ้ว จะมีผลมาก เราต้องไปขวนขวายทำ
อ.วิชัย ต้องแยกระหว่างขณะที่มีความติดข้องเป็นโลภะ กับความเห็นผิดเป็นทิฏฐิ ขณะที่มีความเห็นผิดต้องเกิดกับโลภะ แต่ขณะที่เป็นโลภะบางครั้งก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็มี ฉะนั้น ความเห็นผิดหมายความถึงเห็นไม่ถูกตามความเป็นจริง เห็นผิดจากความเป็นจริง อย่างเช่นการให้ทาน คือกุศลจิตที่เป็นไปในทาน เห็นว่าไม่มีผล แต่ตามความเป็นจริงแล้วให้ผลในภายหลัง
ผู้ฟัง แต่ในกรณีที่ทุกวันนี้เป็นอยู่ก็คือว่าไม่ใช่ว่าไม่มีผล แต่อยากได้ผลมากๆ เลย มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า เขาคงไม่ได้คิดว่าไม่มีผล
อ.วิชัย ถ้าเป็นเพียงความต้องการก็เป็นโลภะ
ผู้ฟัง อันนั้นก็โลภะใช่ไหม
อ.วิชัย ใช่
ผู้ฟัง ไม่ใช่มหากุศลสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์แล้ว
อ.วิชัย ก็เป็นคนละขณะกัน ขณะที่ให้ทานมีเจตนาเป็นไปในการสละวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น อย่างนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ถ้ามีความติดข้องในผล หวังผล ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล
ผู้ฟัง ก็หมายความว่าสลับกันไปสลับกันมาตลอดเวลา
อ.วิชัย ก็สามารถเกิดสลับกันได้
ผู้ฟัง แล้วในการเห็นผิดก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน บางครั้งก็เห็นผิดไปชั่วนิดหนึ่งแล้วก็กลับมาใหม่ อย่างนี้ใช่ไหม
อ.วิชัย ก็แล้วแต่ขณะจิตว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเกิดร่วมกับโลภะหรือไม่
ผู้ฟัง หมายความว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจะต้องมีแต่ละขณะๆ อาจจะชั่วขณะหนึ่งถูก ขณะหนึ่งผิดอย่างนั้น ถูกต้องไหม
อ.วิชัย ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยให้เกิดทั้งหมดเลย ฉะนั้นความเห็นผิดตราบใดยังไม่เป็นพระอริยบุคคลที่เป็นขั้นพระโสดาบันขึ้นไปก็ยังมีทิฏฐิอยู่ คือยังไม่ดับทิฏฐิเมื่อได้เหตุปัจจัย ทิฏฐิก็สามารถจะเกิดขึ้นร่วมกับโลภะได้
ผู้ฟัง ก็หมายความว่านึกอยากจะมีกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่แล้ว ก็มีความต้องการ และติดข้องในสิ่งนั้น นั่นก็หมายความว่าเป็นโลภมูลจิต แต่ไม่ถึงกับเห็นผิดทั้งหมด อย่างนี้ใช่ไหม
อ.วิชัย โลภะกับทิฏฐิเป็นคนละสภาพธรรมกัน เป็นคนละลักษณะกัน แต่ทิฏฐิต้องเกิดกับโลภะ ฉะนั้นความเห็นผิดจากความเป็นจริงกับความติดข้องต่างกัน ขณะใดมีเพียงความติดข้อง เช่นเห็นดอกไม้สวย ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิดอะไร แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นว่าเที่ยงหรือขาดสูญ ขณะนี้ก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือมีความติดข้องพร้อมกับมีทิฏฐิคือความเห็นผิดด้วย
ผู้ฟัง ฉะนั้นบุคคลที่ไม่ได้รู้เรื่องของจิตคงไม่ทราบเรื่องของการเห็นผิด ก็อยู่ที่เหตุปัจจัยที่สร้างสมมาว่ามีความคิดอย่างไร ทำมาอย่างไร ฟังเขาแล้วไตร่ตรองได้แค่ไหนแล้วก็ทำไปตามนั้น แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้เลย
อ.วิชัย เพราะขณะที่จะรู้ต้องเป็นปัญญา ปัญญาจะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดเป็นโลภะหรือว่าขณะใดเป็นทิฏฐิได้
ที่มา ...