รู้จักลักษณะของโลภะและทิฏฐิด้วยปัญญา -พฐ.119


    คุณอุไรวรรณ คำว่า “ประกอบด้วยความเห็นผิด” แค่ที่เราบอกว่าดอกไม้สวย แล้วเราก็ชื่นชมยินดีว่าดอกไม้สวย อันนี้เป็นโลมูลจิตดวงนี้หรือยัง

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นอะไรบ้างหรือไม่

    คุณอุไรวรรณ ไม่มี ขณะนั้นเราไม่มีความเห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    คุณอุไรวรรณ คือขณะนั้นต้องมีความเห็นอย่างแน่นอนว่าเป็นโน่นเป็นนี่ คือต้องมีความเห็นผิดประกอบด้วยจึงจะต้องเป็นโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ มีความเชื่อในความเห็นผิดๆ นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความเชื่อในลักษณะใด แต่จะเห็นได้ว่าเรากล่าวถึงธรรมทั้งหมด พอถึงจุดนี้เราเริ่มเข้าใจถูกว่าเพียงชื่อไม่สามารถทำให้เราเข้าถึงความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาขั้นฟัง ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ยังจะต้องมีปัญญาที่จะค่อยๆ อบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยินได้ฟังแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงต้องถามว่าขณะนั้นที่เป็นโลภะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยไหม ถ้าโลภะเกิดขึ้นแม้ขณะนั้น ศึกษามาว่าความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงามเป็นอกุศล เพราะเหตุว่ากำลังติดข้อง กำลังต้องการ ซึ่งจะต้องขวนขวายต่อไปในสิ่งที่พอใจนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นมูลเหตุของความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าขณะที่โลภะเกิดดูเหมือนเป็นสุข ดูเหมือนเพลิดเพลิน ดูเหมือนพอใจ แต่ว่าความทุกข์ก็จะติดตามมา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ความถูกต้องในสิ่งที่เป็นความจริงในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษา ขณะที่ศึกษา และมีความเข้าใจเปลี่ยนสภาพจากความติดข้องคือโลภมูลจิตมาเป็นกุศลจิตที่ดีงาม และขณะใดที่มีความเห็นถูกเกิดร่วมด้วยก็ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล ฝ่ายอกุศลโลภะติดข้อง ฝ่ายกุศลปัญญาละคลาย แม้ว่าโลภมูลจิตจะมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยได้ โสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยได้ ฝ่ายกุศลคือปัญญาก็มีที่เป็นกามาวจรเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอุเบกขาเกิดร่วมด้วยก็ได้ โสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ สำหรับโลภะจะเกิดมีกำลังกล้า ไม่มีการลังเลสงสัย ไม่มีใครชักจูงด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ก็สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็จะเป็นกุศลที่มีการสะสมมาที่จะมีกำลังที่จะเกิดขึ้นแม้ไม่อาศัยคำของบุคคลอื่น แต่แม้แต่ความคิดถูก ความเห็นถูกก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ตามลำดับขั้นของการสะสมของสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้นธรรมที่ตรงกันข้ามกันก็คือฝ่ายอกุศลเป็นโลภมูลจิต ฝ่ายกุศลเป็นกุศลจิต ฝ่ายโลภะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็ได้ ฝ่ายกุศลจิตก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ และทางฝ่ายโลภะมีอุเบกขาความรู้สึกเฉยๆ เกิดร่วมด้วยก็ได้ โสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทางฝ่ายกุศลก็มีโสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีอุเบกขาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทางฝ่ายอกุศลโลภะมีกำลังเกิดขึ้นก็ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องลังเลสงสัยชักจูงใดๆ ทั้งสิ้น ทางฝ่ายกุศลก็สามารถที่จะเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น โดยที่ว่าจากการสะสมมาเป็นกุศลที่มีกำลังก็ได้ แต่ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ขณะที่กำลังเข้าใจขณะนี้ก็เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของวันหนึ่งๆ ซึ่งขณะใดเป็นอกุศล ถามกันไปเรื่องโลภะ ถามกันไปเรื่องทิฏฐิ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของโลภะ และทิฏฐิด้วยอกุศลจิตได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็เริ่มตามลำดับขั้นว่าปัญญาขั้นฟังก็คือสามารถที่จะเข้าใจถูก และก็พิจารณาไตร่ตรอง เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในภายหลังได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องทิฏฐิเจตสิก ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิตก็ไม่มีทางรู้ว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือว่าเป็นอกุศล

    หมายเหตุ เสียงซ้ำ 2 รอบ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119


    หมายเลข 8764
    27 ม.ค. 2567