ศึกษาเพื่อให้เข้าใจ ทิฏฐิเจตสิก


    เวลาที่พูดถึงเรื่องทิฏฐิ หมายความถึงความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ เราจะเห็นได้ว่าต่างคนต่างคิดแล้วก็ต่างคนก็ต่างเข้าใจ แต่ว่าในความคิดต่างๆ ในวันหนึ่งๆ จะมีทิฏฐิเจตสิกความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เพราะว่าถ้าเราฟังชื่อเรารู้จักชื่อ จิตนี้มีเจตสิกประกอบเท่าไหร่ แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้หรือเมื่อไหร่ มีความเห็นผิดคือทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    เพราะฉะนั้นสำหรับทิฏฐิเจตสิก ก็ควรที่จะได้เข้าใจเจตสิกนี้ว่าขณะใดก็ตามที่มีความเห็นผิดจริงๆ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ขณะนั้นก็คือเจตสิกชนิดนี้เกิดขึ้นทำกิจการงานของเจตสิกนั้น เพราะฉะนั้นในวันนี้ตั้งแต่ผ่านมา มีความเห็นผิดเกิดร่วมกับจิตบ้างหรือยัง นี่คือการที่ถ้าเราจะกล่าวถึงสภาพธรรมอะไร เราก็ควรที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมนั้นจริงๆ ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของทิฏฐิเจตสิกจริงๆ เราจะตอบไม่ได้เลยว่าตั้งแต่เช้ามาจนถึงขณะนี้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เรารู้ว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีอนุสัยกิเลสที่เป็นความเห็นผิดนอนเนื่อง เพราะไม่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อไม่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ชีวิตก็ดำเนินไปต่างๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่สะสมมา บางกาละก็เป็นกุศล บางกาละก็เป็นอกุศล บางกาละก็จะเกิดความเห็นผิดคือทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต แต่บางกาละก็ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงจนถึงสามารถที่จะดับทิฏฐิเจตสิกไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่าทิฏฐิเจตสิกคืออะไร เมื่อไหร่ ขณะไหน เดี๋ยวนี้มีหรือไม่

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120


    หมายเลข 8779
    27 ม.ค. 2567