สัญญา-จิต-ทิฏฐิวิปลาส
ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยินเป็นเสียงนก ตรงนั้นคิดว่าไม่มีความเห็นผิดจนกว่าจะมีเราได้ยินเสียงนก ขณะนั้นมีความเห็นผิดว่ามีเราได้ยินเสียงนก เป็นแต่ละขณะ เข้าใจถูก หรือไม่
ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินคิด หรือไม่ เข้าใจ หรือไม่ว่าเรากำลังได้ยิน หรือว่าได้ยินแล้วหมดแล้ว ได้ยินแล้วหมดแล้ว ขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเป็นอกุศล จะมีวิปลาส ๓ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว คือ วิปลาสด้วยสัญญาความจำในรูปร่างสัณฐานในสิ่งที่ปรากฏ มีความยินดียินร้ายในสิ่งนั้นเพราะสัญญาวิปลาส ถ้าไม่มีคนเราจะโกรธใคร หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่โกรธ
ท่านอาจารย์ แต่ที่โกรธนั้นโกรธด้วยสัญญาวิปลาสใช่ หรือไม่ ขณะที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น มีสัญญาวิปลาสว่าสิ่งนั้นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ทรงแสดงความละเอียดมาก ที่แสดงให้เห็นว่าก่อนที่เราจะเข้าใจว่าขณะไหนเป็นทิฏฐิ คือเป็นโลภะที่เกิดร่วมกับทิฏฐิมีความเห็นผิด ขณะนั้นเราก็ต้องค่อยๆ เข้าใจว่า ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องวิปลาส ๓ อย่าง ก็จะเข้าใจว่าทุกขณะเป็นทิฏฐิวิปลาส แต่ความจริงไม่ใช่ จึงต้องเข้าใจว่าลักษณะของทิฏฐิเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเมื่อมีความเห็นผิดในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นเพียงความพอใจที่มีมาก สะสมความพอใจไว้มากมายในชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายสะสมความพอใจด้วยโลภะไว้มากประมาณไม่ได้เลย ทั้งวันก็เต็มไปด้วยความต้องการ หรือติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นปกติ เพราะฉะนั้น โลภะก็เกิดมาก แต่ทิฏฐิจะไม่เกิดขณะที่เราไม่ได้มีความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะนั้น แต่ขณะนั้นวิปลาสด้วยสัญญาความจำ และขณะใดที่สัญญาวิปลาส สัญญานั้นก็เกิดร่วมกับจิต จิตนั้นก็เป็นจิตวิปลาส ยังไม่ถึงทิฏฐิวิปลาส ต่อเมื่อใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐิวิปลาส ก็ยังดีใช่ หรือไม่ เพราะว่าห้ามโลภะไม่ได้เลยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ที่มา ...