เมื่อเชื่อในสิ่งที่ผิด ก็จะกล่าวหรือทำในสิ่งที่ผิด


    ผู้ฟัง วิปลาส ๓ ทำให้เราปนกับสักกายทิฏฐิ คำว่า “เรา” เป็นวิปลาส จำผิด เห็นผิด หรือ คิดผิด ขอความกรุณาในความละเอียด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นทิฏฐิวิปลาส ทั้งวันไม่มีทางพ้นเลยใช่ หรือไม่ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลองถามเด็กเล็กๆ ที่เขาเห็นอะไรแล้วเขาชอบ ว่าชอบ หรือไม่ เขาตอบเลยว่าชอบ เขามีทิฏฐิวิปลาส หรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้โตขึ้นมาจากการที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วเราเกิดพอใจ จำได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จะชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้นก็ตาม จำได้แล้วชอบ กับจำได้แล้วไม่ชอบก็เหมือนกันใช่ไหม คือจำได้นั่นเอง แต่ว่าจำอย่างนี้แล้วชอบ แต่เมื่อจำอีกอย่างหนึ่งเป็นไม่ชอบ แต่ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นจะเป็นตลอดไป ไม่มีเวลาที่จะไม่มีทิฏฐิสัมปยุตต์เกิดกับจิตเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่คำที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดยังไม่ปรากฏลักษณะ แม้แต่คำว่า “สักกายทิฏฐิ” หรือทิฏฐิอื่นๆ ก็ตาม ถ้าทิฏฐิอื่นเราจะเห็นได้จากการกระทำ และความคิดทางกาย ทางวาจา เช่น ถ้ามีความคิดว่าเราสามารถจะให้คนอื่นบันดาลให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ถ้าใครเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ผิด หรือถูก ไม่ใช่เรื่องของการที่พอใจในรูป ใน เสียง ในกลิ่น ในรส แต่เป็นความเห็น ขณะนั้นมีความเห็นว่าคนอื่นสามารถที่จะทำให้เราเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ได้

    แต่ความจริงกิเลสของเราต่างหาก ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏจะน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจก็ตาม สิ่งนั้น หรือ คนนั้น หรือ คำนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ ถ้าไม่มีกิเลส พระอรหันต์ที่ท่านดับกิเลสหมด ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นอะไร จะน่ารักน่าชังอย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้จิตของท่านหวั่นไหว และเกิดกิเลสอกุศลได้ จะรัก หรือ ชัง ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ามีใครที่มีความเข้าใจ แล้วก็กล่าวคำที่เห็นผิดต่างๆ เราก็รู้ได้ว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เป็นความเห็นอย่างนั้นในขณะนั้น ทำให้คิดอย่างนั้น เชื่ออย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ถึงกับกล่าววาจาอย่างนั้นอย่างมั่นคง นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเราจะเห็นทิฏฐิส่วนที่หยาบที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมากๆ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121


    หมายเลข 8790
    27 ม.ค. 2567