สัญญาและความคิดมีลักษณะที่แตกต่างกัน


    ผู้ฟัง ขณะจักขุวิญญาณเห็นรูปที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ในขณะนั้นมีเจตสิก ๗ ดวงเกิดขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสัญญามีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ หรือไม่

    ผู้ฟัง น่าจะรู้

    ท่านอาจารย์ น่าจะ แต่ความจริง ไม่ใช่น่าจะ ขณะที่เห็น รู้สัญญาที่เกิดกับจิตเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ นั่นคือ คิด ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพจำที่เกิดกับจิตเห็น

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่รู้ว่าจักขุวิญญาณเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเกิดเห็นสิ่งที่ปรากฏ ใครจะไปรู้อะไรอีก ในเมื่อจักขุวิญญาณเพียงกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่มีอื่นเลย มีแต่จิตเห็น สัญญาจำสิ่งที่เห็น สัญญามีหน้าที่จำ จิตรู้อะไร สัญญาก็จำสิ่งที่จิตกำลังรู้

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเกิดโทสะ หรือโลภะ จะใช้ปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ ใช้ หรือ อาศัย หรือ เข้าใจ

    ผู้ฟัง เป็นขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เข้าใจคือความเห็นถูก ตรงกันข้ามกับความเห็นผิด ถ้าใช้เป็นความเห็นผิด เพราะเราใช้อะไรไม่ได้ ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วดับทันทีไม่มีอะไรเหลือ แล้วไม่กลับมาอีกด้วย

    ผู้ฟัง ยอมรับว่าไม่กลับมาอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วจะใช้สิ่งใด ในเมื่อไม่กลับมาสักสิ่งเดียว

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจให้ถูกว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ โดยการฟัง ขั้นฟัง รู้ว่าเป็นปัจจัยขั้นฟัง แต่ลักษณะของสภาพธรรมก็อยู่ในความมืด ไม่ได้ปรากฏจนกว่าสติปัฏฐานเกิดเมื่อใด รู้ตรงลักษณะใด ลักษณะนั้นจึงปรากฏลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 121


    หมายเลข 8793
    27 ม.ค. 2567