ความเป็นอภิสังขารของเจตนา
อ.กาญจนา เมื่อกี้ท่านอาจารย์พูดถึงว่าเรื่อง บุญญาภิสังขาร ว่ายังมีค้างอยู่ เชิญค่ะ
ท่านอาจารย์ คือทุกเรื่องของธรรม ไม่ค่อยอยากจะให้ผ่านไปโดยรวดเร็วนัก แต่ว่าอยากจะให้ท่านผู้ฟังค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นยาก แต่ว่าค่อยๆ ฟังไป แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เมื่อทราบแล้วว่า สังขารในปฏิจจสมุปปาท แสดงไว้ ๓ อย่าง คือ ปุญญาภิสังขาร ๑ อปุญญาภิสังขาร ๑ อเนญชาภิสังขาร ๑ ไม่ว่าจะศึกษาธรรมเรื่องอะไรก็ตามจะต้องรู้ว่า ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร นั่นจึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูก ไม่ใช่ว่าไม่มีสภาวะ พูดกันไปเลื่อนๆ ลอยๆ พอรู้ว่าปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ก็ไปเข้าใจโดยชื่อ แต่จะต้องเข้าใจด้วยว่า สำหรับสังขารในปฏิจจสมุปปาทนั้น ซึ่งเป็นการปรุงแต่งอย่างยิ่งที่ใช้คำว่า อภิสังขาร ทั้งๆ ที่เจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เป็นเจตสิกซึ่งปรุงแต่งจิต แต่ที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งก็ควรที่จะพิจารณาว่า เจตนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นลักษณะที่จงใจ ตั้งใจ แล้วก็กระตุ้นสหชาตธรรม คือ เจตสิก และจิตที่เกิดร่วมกัน ให้กระทำกิจการงานสำเร็จกิจตามกิจของตน ของตน นั่นคือลักษณะ และกิจของเจตนาเจตสิก ซึ่งยากที่จะเห็นได้ เพราะเหตุว่าเจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คำว่า “สัพพจิตตสาธารณะ” หมายความว่า เจตสิกซึ่งสาธารณะเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกดวง
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ทุกขณะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตขณะหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท หรือ๗ดวง แต่ว่ามีใครรู้บ้างขณะที่กำลังเห็น ว่าเจตสิกตั้ง ๗ ดวงเกิดดับที่จักขุปสาท ทันทีที่จิตเกิดที่จักขุปสาท เห็นที่จักขุปสาท แล้วก็ดับที่จักขุปสาท เจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เกิดดับร่วมกับจิต ซึ่งรวมทั้งเจตนาเจตสิกด้วย
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ก็ทำให้เข้าใจว่า แม้แต่เจตนาเจตสิกก็เป็นสภาพที่ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นได้ แม้ว่ามีความจงใจ ความตั้งใจในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่าโดยชาติ ซึ่งเป็นวิบากซึ่งเป็นผล ได้แก่ จักขุวิญญาณ จิตเห็น จิตได้ยิน เหล่านี้ แม้ว่าเจตนาเจตสิกจะเกิดด้วย ก็ไม่ปรากฏ เมื่อไม่ปรากฏจะไปรู้ว่า ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นที่จะปรากฏพอที่จะรู้ได้ก็คือ ความจงใจหรือความตั้งใจที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง ที่เราใช้คำว่า มีเจตนาหรือเปล่า ตั้งใจหรือเปล่า จงใจหรือเปล่า
นั่นก็แสดงให้เห็นว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา เมื่อถึงระดับขั้นนั้นแล้วก็สามารถที่จะปรากฏ เวลาที่เกิดความชอบใจพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเจตสิก ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่ามีอย่างอ่อน อย่างเวลาที่เอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำ ขณะนั้นก็ต้องมีเจตนาเกิดกับจิต ทำให้มีอาการเคลื่อนไหวไปกระทำกิจการงานต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ไม่ขาดเจตนา แต่ขณะใดที่เป็นอกุศลเจตนามีกำลังที่จะทำให้เกิดทุจริตกรรม เป็นอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้เกิดผล คือ วิบาก ถ้าตราบใดที่ยังมีอกุศลเจตนา และกุศลเจตนา ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล ซึ่งทำให้สังสารวัฏฏ์ไม่สิ้นสุด เพราะเหตุว่าโดยปฏิจจสมุปปาท ทุกคนก็คงจะคุ้นหู เริ่มตั้งแต่ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขาร คือ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิ
เพราะฉะนั้นทุกท่านที่นี่ต้องเกิด เป็นของธรรมดา ใครกลัวตายคิดว่าจะไม่เกิดอีกนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อยังมีกรรมอยู่ ก็ยังต้องมีการเกิด แต่ว่ากรรมก็มีมากที่ว่า แล้วแต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมใด กรรมเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ปฏิสนธิเกิดในภพชาติต่อไป เหมือนกับในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา เจตนาที่เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผล ถ้ากรรมนั้นยังไม่ได้ให้ผลหมดสิ้น
เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้ผลในชาตินี้ หรือแม้จะทำให้ทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ ปฏิสนธิจิตเกิดจากกรรมชาติหนึ่งชาติใดหรือกรรมชาติก่อนที่ได้ทำแล้ว ก็เป็นได้
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอภิสังขารของเจตนา ซึ่งทำให้เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล คือ วิบากทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต