จะแก้วิบากกรรมได้มั้ย
ผู้ฟัง ผมสนใจคำว่า “วิบาก” ตั้งแต่ปฏิสนธิ วิบากกำหนดไว้แล้วว่า ไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราพบ นี้คือวิบาก ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ย่อๆ ใช่ค่ะ คือขณะที่เห็น ยังไม่ใช่ขณะที่รู้สึกชอบหรือชัง
ผู้ฟัง ขณะที่เห็นขณะนี้ก็คือวิบากที่เราเคยทำมา แต่ว่าเราไม่รู้ว่า ตั้งแต่เมื่อไร ทำมา ไม่สามารถที่จะพบได้ ทีนี้วิบากที่เราจะเกิดขึ้นต่อๆ ไปอีก เราสามารถที่จะ คล้ายๆ ทำให้วิบากมันดี คือ บางอย่าง เช่นเราไปรู้ว่า พรุ่งนี้เราจะตาย เราจะแก้วิบากที่มันจะตายพรุ่งนี้ได้ไหม ถ้าเกิดเราทำกุศลที่หนักๆ เพื่อแก้วิบาก สมมติว่ามีลางสังหรณ์ หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างทำให้รู้ว่า พรุ่งนี้คงจะเกิดอุบัติเหตุ หรือจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็เลยไปบวชดีกว่า หรือทำนองว่าทำกุศลที่มันหนักๆ ไว้ ก็อาจจะแก้ได้ ในกรณีนี้สามารถจะเป็นไปได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ กรรมที่ได้ทำสำเร็จแล้ว ทำสำเร็จแล้วก่อนจะตายนานนะคะ ที่จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปทำตอนที่จะตาย เพราะฉะนั้นจะแก้ตอนไหน เวลาไหน
ผู้ฟัง ในอนาคตเราไม่รู้ว่าวิบากอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง ทีนี้เราต้องการได้วิบากทีดีๆ ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ เราก็ต้องทำกุศลมากๆ
ผู้ฟัง ครับ แล้วก็ต้องทำกุศลตลอด เพื่อให้วิบาก คือมีอาจารย์บางท่านสมมติว่า ภูเขาลูกใหญ่ลูกหนึ่งเป็นลูกอกุศล อีกลูกหนึ่งเป็นกุศล ติดตามเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพลาดหรือเรามี คล้ายๆ ทำอกุศล ภูเขาลูกอกุศลก็จะตามทับเราทันที ในทำนองนี้จะ ใช้ได้ไหมครับ หมายถึงว่า..
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราเกิดกุศลมากๆ หรือเปล่าคะ
ผู้ฟัง ครับ ทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ อะไรก็ตามที่จะทำให้เราเกิดสติแล้วก็เป็นกุศลมากๆ ก็จะทำให้เกิดกุศลวิบาก ตามควรแก่เหตุ
ผู้ฟัง เป็นทำนองว่าหน้าที่ของกรรม กรรมหนักก็ต้องมาก่อน
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นกุศลที่ควรจะเจริญที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะไม่ทราบว่าเกิดมาแล้วเท่าไร แล้วจะเกิดต่อไปนานเท่าไร ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้ารู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว การเกิดก็จะเหลืออีกเพียง ๗ ชาติ เสียดายไหมคะ น้อยไป ๗ ชาติ จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้ยินอะไร
ผู้ฟัง ทดสอบว่าสติปัฏฐานที่อาจารย์ว่า ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เป็นอนัตตา ทีนี้เป็นอนัตตาแล้ว ก็เป็นวิบากอย่างหนึ่งใช่ไหมครับ หมายถึงว่า เราบังคับไม่ได้ ไม่สามารถที่จะกำหนด เช่น เวลานี้เราจะกำหนดว่า ขณะที่ศอกเราสัมผัสเก้าอี้ที่แข็ง เพราะเรามัวแต่จะนึกคิด หมายความว่า สมมติบัญญัติในคำพูด เราก็ไม่รู้ ไม่มีสติปัฏฐานในการกำหนด ทีนี้การกำหนดก็ถือเป็นวิบากอย่างหนึ่งของคนที่สั่งสมมาด้วยความชำนาญ ขณะพูดก็สามารถที่จะปฏิบัติได้ คือ สามารถที่จะปฏิบัติสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ที่สติเกิดไม่ใช่วิบาก เป็นการสะสมของกุศล และอกุศล
ผู้ฟัง สะสมต่อไปนะครับ
ท่านอาจารย์ วิบากเฉพาะชั่วขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้น
ผู้ฟัง ทีนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เราจะมีศิลปะหรือว่าความถนัดแตกต่างกันเป็นช่วงๆ ที่อาจารย์ว่า เป็นวาสนา วาสนาของคนเราก็ต้องมีหลายๆ อย่าง เช่น ถนัดชกมวย ถนัดกีฬาหลายประเภทก็มี แต่อาจจะถนัดทางอาชีพของเรา ที่เรียกว่าพรสวรรค์ หรือว่าถ้าเป็นนักกีฬาก็เด่นไปอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวาสนาที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาตินับไม่ถ้วน หมายถึงว่าสะสมมาหลายๆ อย่าง แล้วก็เป็นวาสนาหลายๆ อย่างได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขณะที่นั่งอยู่อย่างนี้ แต่ละคนไม่เหมือนกันตามวาสนาที่สะสมมา