รู้วิบากหรือรู้เรื่องวิบาก
คุณสุรีย์ ดิฉันเรียนถามท่านวิทยากรมีอะไรเพิ่มเติมจากคราวที่แล้วไหมคะ เรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ
ท่านอาจารย์ คือเรื่องจิตนี้ก็เป็นเรื่องที่พูดกันไม่รู้จบจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพของธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีจริงๆ นั้น ก็มีเพียง ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน เรื่องของพระนิพพานนั้นก็ยกไว้ก่อน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูป จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดถึงพระนิพพาน หรือว่าอยากจะถึงพระนิพพาน เพราะเหตุว่าการศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แล้วไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้ว แม้แต่เรื่องของวิบาก ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจวิบากแล้ว ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของจิตจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นฟังเรื่องของจิต แล้วก็คิดว่าอ่านหนังสือจบไปหลายหน้าแล้ว แต่ไม่ว่าจะอ่านหนังสือจบไปหลายหน้า หรือว่าหลายเล่ม หลายเดือน หลายปี ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส คิดนึกในขณะนี้
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟัง ฟังเรื่องจิตก็ไม่รู้จบ หรือว่าเรื่องเจตสิกเรื่องรูปก็ไม่รู้จบ เพราะเหตุว่านอกจากฟังแล้ว ยังมีสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่ว่าผู้ที่ได้เรียนแล้ว รู้จริงตามที่ได้เรียนหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นการที่เราจะศึกษา ค่อยๆ ศึกษาไปพร้อมกับสังเกต พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมมีประโยชน์ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องธรรมที่กำลังพูดถึง ละเอียด ชัดเจน ตรง ถูกต้องขึ้น มากกว่าเพียงรู้โดยคำ เช่น คำว่าวิบาก แล้วก็บอกว่าเป็นผลของอดีตกรรม เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงวิบากซึ่งเป็นสภาพของจิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานในขณะที่เห็น
ขณะนี้ทุกคนเห็น ก็จะต้องเข้าใจว่า เป็นวิบากอย่างไร ยังไม่ใช่กุศล ยังไม่ใช่อกุศล นี่เป็นการที่จะต้องมีสติ หรือสติจะต้องเกิดขึ้น เพื่อที่จะแยกได้ ขณะนี้ทุกคนก็เห็น แล้วก็เห็นมาแล้ว แล้วก็กำลังจะเห็นต่อไป แต่สติเกิดระลึกที่จะรู้วิบาก ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นในขณะนี้ ไม่ใช่ความชอบหรือความชัง หรือการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ
นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งจะต้องคู่กันไปกับการศึกษา ถ้าพูดเรื่องวิบาก แล้วก็เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย คือไม่ใช่เรื่องรูป หมายความว่า จิตที่รู้หรือเห็นทางตา รู้หรือได้ยินเสียงทางหู พวกนี้ ก็ขอให้พยายาม คือ ขณะนั้นเป็นสัมมาวายามะ แล้ว สัมมาสติก็เกิดแล้ว ที่จะรู้ในความหมายจริงๆ ของวิบาก เพื่อที่จะได้แยกโดยการรู้ว่าขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราว หรือขณะที่กำลังชอบกำลังชังก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว มีใครที่พอจะเข้าใจพิจารณา และเข้าใจวิบาก โดยที่ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อบ้างไหมคะ ก่อนที่จะไปถึงวิถีจิต
ผู้ฟัง สำหรับวิบาก สำหรับผู้เริ่มเรียนใหม่ๆ จะแยกไม่ออกว่า วิบากอยู่ตรงไหน อย่างสมมติว่าเราเห็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่เข้าใจว่าอันนั้นเป็นวิบาก สิ่งที่เราไม่ชอบ เราคงไปทำอะไรไม่ดีไว้ เราจึงเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ดิฉันคิดได้แค่นี้ แต่คิดไม่ถึงว่า
วิบากนั้นมันเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ค่ะ อันนี้ก็เป็นเรื่อง เพราะว่าเคยทำกรรมมาไม่ดีก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือว่าไม่น่าพอใจ นี่เป็นเรื่องของวิบากอีก แต่ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้วิบาก
ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาแนะนิดหนึ่งว่า กำลังรู้วิบากกับเรื่องวิบากนั้น ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่พูดมาทั้งหมด ที่เป็นเรื่องเคยกระทำกรรมมาแล้ว ขณะนี้เป็นเรื่องของวิบาก แต่ถ้าในขณะที่กำลังเห็น นี่ต้องมีสติแน่นอนถึงจะรู้วิบากได้ แล้วต้องเป็นสติขั้นที่ระลึกได้ รู้ในขณะที่กำลังเห็นว่า สภาพหรืออาการเห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ เป็นสภาพรู้หรืออาการรู้ นี่ก็เป็นเรื่องยาว แล้วก็จะต้องเป็นเรื่องที่อบรมไปตลอดชีวิตคู่กันไปกับการฟังพระธรรม เพื่อที่จะมีสิ่งที่จะทำให้สามารถละคลายการยึดถือเห็นในขณะนี้ว่า เป็นตัวตนได้
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านก็เป็นห่วง เพราะว่าท่านก็อายุมาก ท่านก็บอกว่าท่านอยากจะรู้วิธีที่จะเอาใจไปไว้ตรงไหนก่อนจะตาย ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์มาก เพราะท่านมีความรู้สึกว่า อาจจะเป็นทางที่จะทำให้ถึงพระนิพพานได้
ลืมเสียเรื่องจะถึงพระนิพพาน โดยไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านก็บอกว่า ท่านเคยเอาใจไปไว้ที่พุทโธ หรือลมหายใจ หรืออะไร แล้วผลก็คือว่าไม่มีความเข้าใจอะไร ก็เรียนให้ท่านทราบว่า ทุกอย่างที่เป็นการที่จะไม่ให้เกิดปัญญาแล้ว เลิกเสีย ไม่มีประโยชน์เลย ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้มี
เพราะฉะนั้นการที่จะถึงพระนิพพาน จะต้องจากการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีแล้วในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องทำค่ะ เลิกเรื่องทำ แต่ว่าเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ