จิตเห็น - จิตได้ยินแยกกันอย่างไร


    ผู้ฟัง สงสัยว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินก็คนละอย่างกัน แต่เมื่อดิฉันเห็นอาจารย์พูด แล้วก็ได้ยินเสียงด้วย แล้วก็เห็นหน้าด้วย ก็พร้อมกันนี่คะ แล้วทำไมถึงจะแยกได้อย่างไร แล้วจะแยกมันแยกไม่ถูกหรอก

    ท่านอาจารย์ คือถ้าจะแยกโดยวิธีอื่น จะไม่ถูกแน่นอน ต้องอาศัยการฟังเทียบเคียงอย่างเหตุที่จะให้เกิดการเห็น คือ จักขุวิญญาณ ภาษาบาลีนะคะ กับเหตุที่จะให้เกิดโสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยิน ต่างกันแล้ว เมื่อต่างกันที่เหตุ ผลก็ต้องต่างกัน เพราะเหตุว่า จิตเห็นต้องเห็นที่จักขุปสาทรูป ตรงกลางตาเลย แล้วก็จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินที่โสตปสาทรูป คือตรงหูจริงๆ ซึ่งรูปในขณะนี้เกิดดับเร็วมาก เราคิดว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าเรียนเรื่องวิถีจิต หมายความถึงการเห็นวาระหนึ่งแล้วก็การได้ยินวาระหนึ่ง ที่ใช้วาระหนึ่ง เพราะเหตุว่าจิตเห็น จะต้องมีจิตเกิดก่อน และจิตเกิดหลังก่อนที่รูปๆ หนึ่งจะดับไป แสดงว่ารูปๆ หนึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เราคิดว่าเห็น แล้วได้ยิน ความจริงจิตเกิดดับไปแล้วมากกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปก็ดับไป โดยที่เราไม่ทันรู้เลยในขณะนี้ แล้วก็ถ้าคิดถึงจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตากับโสตปสาทรูปที่อยู่กลางหู แล้วพิจารณาจริงๆ มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ เพราะเหตุว่ามีกลุ่มของรูปเล็กๆ มากมายจากกลางตาไปถึงหู

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นเพียงอาศัยรูปที่มีอายุสั้นมาก ที่ยังไม่ดับ กระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีอายุที่สั้นมากที่ยังไม่ดับ แล้วก็มีวิถีจิตหลายขณะเกิดขึ้นเป็นวาระหนึ่งของการเห็นครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะรู้เรื่องรู้ราว แล้วก็รูปก็ดับไปตั้งเยอะ แล้วก็อาศัยโสตปสาทรูปทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นเป็นของที่แน่นอนที่สุดว่า จักขุวิญญาณ จิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ให้เกิดก็ต่างกัน สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตก็ต่างกันด้วย เพราะเหตุว่าจิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้นเสียงไมใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จะมีจิตพร้อมกัน ในขณะเดียวกันที่ไปทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสภาพรู้ โดยสภาวะจริงๆ เป็นอย่างนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจปริยัติ คือ การศึกษาเกื้อกูลทำให้สติเกิดระลึกทีละอย่าง ถ้าระลึกทีละอย่าง จะทำให้ค่อยๆ เห็นความแยกกันในขณะที่กำลังได้ยินเสียง แล้วก็สติกำลังระลึก จะเป็นระลึกที่ลักษณะอาการที่รู้เสียง หรือสภาพของเสียงก็ตาม ในขณะนั้นไม่ใช่ว่าโลกมืดไปหมด ก็ยังมีแสงสว่างเป็นปกติธรรมดา แต่จะรู้ได้ว่าสติช่างสั้น แล้วก็สิ่งที่สติระลึกรู้ก็เล็กน้อยเหลือเกิน ตรงกับภาษาธรรมที่ใช้คำว่า “ปริตตารมณ์” คือเป็นสภาพธรรมที่แสนจะเล็กน้อย ทั้งสติ ทั้งสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสติก็ดับด้วย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติ ถ้าไม่ตามปกติแล้ว ก็จะปรากฏอาการของสมาธิซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน


    หมายเลข 8844
    22 ส.ค. 2567