รูปไม่ใช่วิบาก
อ.นิภัทร รูปนี่ไม่ใช่วิบาก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ
อ.นิภัทร ไม่ใช่วิบาก เกิดจากกรรม จากจิต จากอุตุ จากอาหารเหมือนกัน เป็นผลของจิต ของกรรม ของอุตุ ของอาหารเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าวิบาก
ท่านอาจารย์ รูปเกิดจากกรรมได้ แต่ไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่ารูปไม่ได้รับผล คือไม่ได้รู้อะไร
อ.นิภัทร เพราะไม่รู้อะไร จึงไม่ใช่วิบาก
ท่านอาจารย์ ค่ะ
อ.นิภัทร เพราะฉะนั้นคำว่า “วิบาก” เป็นเรื่องของจิตโดยเฉพาะ แล้วจิตที่เป็นวิบากที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ก็คือ จักขุวิญญาณ ทางตา โสตวิญญาณ ทางหู ฆานวิญญาณ ทางจมูก ชิวหาวิญญาณ ทางลิ้น กายวิญญาณ ทางกาย เท่านั้น ที่วิบากเจริญสติปัฏฐาน
ทีนี้ผมก็ได้ยินว่าเวลาเจริญสติปัฏฐาน เวลาเห็นก็ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ตา เวลาได้ยินก็ให้สติตั้งอยู่ที่หู เวลาได้กลิ่นก็ให้สติตั้งอยู่ที่จมูก เวลารู้รสก็ให้สติตั้งอยู่ที่ลิ้น เวลาถูกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ให้สติตั้งอยู่ที่กาย อย่างนี้ผมว่ามันคงไม่ค่อยจะถูก ใช่ไหมอาจารย์
ท่านอาจารย์ เรื่องการเอาสติ เป็นเรื่องตัวตนที่ทำ ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง แล้วจะเหนื่อย แล้วก็จะไม่ได้ผล คือ มัวเอาอยู่นั่น เอาไปวางตรงนั้น เอาไปวางตรงนี้ ซึ่งสภาพธรรมก็เกิดไปแล้ว แล้วก็ดับไปแล้ว อย่างในขณะนี้ เห็น ไม่ต้องเอาอะไรไปทำอะไรตรงไหนเลย ค่อยๆ รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ ลักษณะรู้ที่กำลังเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แค่นี้ก็แสนยาก แล้วก็ยาวนานกว่าจะชิน เพราะอวิชชา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ คือ ขณะนี้มีเหตุปัจจัยทำให้เห็นเกิดขึ้น หรือว่าขณะนี้มีเหตุปัจจัยทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ไม่มีตัวตนที่ไหนไปทำอีก แต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นปัญญาก็เป็นสภาพที่ไม่เข้าใจผิด ไม่หลงผิด เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ตั้งแต่เกิดจนตายก็มี ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ทุกขณะไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังสุข กำลังทุกข์ กำลังคิด กำลังโกรธ กำลังดีใจ กำลังเมตตา ทั้งหมด เป็นแต่เพียงนามธรรม แล้วก็รู้ลักษณะของรูปนาม ก็หมายความว่าผู้นั้นอบรมเจริญปัญญา ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ให้ผู้นั้นเริ่มเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรมเพื่อสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ เป็นเรื่องการเกิดขึ้นของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติเป็นมรรคมีองค์ ๕ มีการระลึกแล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมหลังจากที่ฟังแล้ว เข้าใจแล้วด้วย ถ้าใครฟังแล้วไม่เข้าใจ สติปัฏฐานจะไม่เกิด จะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน
อ.นิภัทร เวลาเห็นเราก็เห็นที่ตา เวลาได้ยินได้ยินที่หู เวลาได้กลิ่นได้กลิ่นที่จมูกเวลารู้รสรู้รสที่ลิ้น เวลารู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็รู้ที่กาย แต่เวลาเจริญสติปัฏฐาน ถ้าไม่ให้สติอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย จะให้อยู่ที่ไหน
ท่านอาจารย์ ให้สติ หรือว่าสติเกิดระลึก นี่คือความต่างกัน ถ้าให้สติ ก็เป็นการทำ แต่ถ้ารู้ว่าขณะนี้สติเกิด เวลาสติเกิด จะมีการระลึกที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ใช่เอาสติไป
อ.นิภัทร ไม่ต้องไปคิดถึงตา ถึงหู อย่างนั้นหรือครับ
ท่านอาจารย์ นั่นคิดนะคะ
อ.นิภัทร ขณะเจริญสติ คือไม่คิดถึงตาก็เห็นอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ กำลังเห็นในขณะนี้
อ.นิภัทร ไม่คิดถึงหูก็ได้ยินอยู่แล้ว ขอแต่ให้มีอารมณ์เท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ มีแล้ว
อ.นิภัทร มีอารมณ์แล้ว
ท่านอาจารย์ อารมณ์ก็มีแล้ว ทุกอย่างมีแล้ว เพียงแต่สติระลึก ที่ใช้คำว่า สติระลึก เป็นคำที่ทำให้ดูเหมือนกับว่ายาว แล้วก็สติระลึก แต่ความจริงเวลาสติเกิดสั้นมาก คือขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ค่อยๆ รู้ เพราะเหตุว่าจะรู้ทันทีว่าเป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เคยชินกับการที่จะระลึกว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้ เพราะเหตุว่าเป็นเราเห็นมานาน
เพราะฉะนั้นลักษณะแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงการรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ เห็น ขณะนี้เป็นลักษณะของความรู้ หรืออาการรู้ หรือลักษณะรู้ ซึ่งต่างกับรูป รูปไม่เห็น
เพราะฉะนั้นที่กำลังเห็น สติจะต้องมีการระลึกแล้วก็รู้ คือ สติเกิด แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขณะที่ใช้คำว่า สติเกิดแล้วค่อยๆ เข้าใจ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็คือ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ ค่อยๆ เกิดทีละน้อย
อ.นิภัทร ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่จะติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเอง ติดอยู่ตรงที่ว่ามันจะคอย คอยคิดว่าขณะเห็น มันคอยคิดเอาตัว เอาตาไปคอยดูแล้ว ไปคอยเจริญสติแล้ว ซึ่งมันผมว่ามันไม่ถูกนะ คิดโดยตัวเองว่ามันไม่ถูกแน่ๆ อย่างเวลาได้ยินจะต้องคอยว่า จะได้ยินทางหู ก็มีหูไปคอยได้ยินแล้ว ซึ่งมันเป็นตัวตนแล้ว มันไม่ถูกแน่ๆ คิดอยู่อย่างนี้ ติดอยู่อย่างนี้ ติดอยู่นาน คือ ทั้งๆ ที่เห็นมีอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมจะต้องไปคอยไปจ้องตรงตา ได้ยินก็มีอยู่ตลอดเวลา ขอให้มีเสียงเถอะ มันได้ยินของมันอยู่แล้ว แล้วทำไมจะต้องเอาสติไปคอยไว้ที่หู ซึ่งการเอาไปคอยอย่างนั้น ตาก็ดีก็เป็นเราแล้ว หูก็ดีก็เป็นเราแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่ามันไม่ถูก ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีปัญญาเข้าใจความหมายของสีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด คือรู้ตัวเองว่าขณะนั้นผิดแล้ว ไม่ต้องคอย ไม่ต้องรออะไรเลย มีสภาพธรรมปรากฏซึ่งปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใช้คำว่า ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ดีที่สุด เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่าเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้สึกเป็นเรื่องที่จะต้องรอ ต้องคอย ต้องทำแต่ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะใดที่ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นนั่นเองคือสติปัฏฐาน