อยากให้สติปัฏฐานเกิดมั้ย
คุณอดิศักดิ์ สภาพธรรมสั้นจริงๆ สั้นอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า ขณะที่พูดว่าเห็น เฉพาะคำว่า “เห็น” อย่างเดียว สภาพธรรมสั้นกว่านั้นอีก เห็นมีอยู่แล้ว สภาพธรรมมีอยู่แล้ว แต่ทีนี้การที่มาเรียนมาฟังท่านอาจารย์สอนเรื่องแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน อย่างที่คุณนิภัทรพูด มันจะเอาตัวตน เข้าไปเจริญสติ ขณะที่เห็นก็มีอยู่แล้ว แล้วสภาพธรรมที่เห็นก็ดี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี สั้นนิดเดียวจริงๆ ขณะที่พูดสิ่งที่ปรากฏทางหูก็ผ่านไปแล้วนิดเดียว สั้นๆ จริงๆ จากคำที่ท่านอาจารย์ย้ำเสมอว่า สภาพธรรมนี้สั้นจริงๆ แล้วสั้นจริงๆ เห็นก็สั้นจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วเราก็ลองมาสังเกตดูว่าเห็นนี้สั้นจริงๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าหรือเปล่า มันก็สั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก่อนที่จะถึงที่คุณอดิศักดิ์พูด ก็คงจะเป็นค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ก่อน แล้วก็แยกจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ๒ อย่าง ต้องค่อยๆ เข้าใจไป
คุณอดิศักดิ์ ครับ เห็น คือ สภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ อันนี้ก็ฟังมาอย่างมากแล้ว เสร็จแล้วถ้าเราไปนึกถึงมัน ไปคิด ก็อดคิดไม่ได้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ คืออย่างไร เราก็สังเกต สำเหนียก เอาใจใส่อยู่เรื่อย เห็นเป็นอย่างไร ธาตุรู้เป็นอย่างไร สภาพรู้เป็นอย่างไร ก็ตั้งคำถามถามกับตัวเอง แล้วก็สังเกตสภาพธรรม ซึ่งก็ต้องใช้การศึกษาอย่างยาวนาน แต่สภาพธรรมที่มีสั้นๆ มันก็จะปรากฏบ้างนิดหน่อย
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ปริยัติที่ว่ายาก แต่พอถึงการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เป็นความเห็นถูกจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตนยิ่งยากกว่า แล้วก็เป็นเรื่องของการอบรม เพราะถึงแม้ว่า จะเข้าใจโดยการฟังก็จริง แต่อย่างที่คุณนิภัทรว่านะคะ ก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นเราจะทำ หรือจะคอย ซึ่งผู้นั้นเองจะค่อยๆ รู้ขึ้น และค่อยๆ ละสีลพัตตปรามาส ซึ่งเป็นความเห็นผิด เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ผิดทีละเล็กทีละน้อย แล้วผู้นั้นก็จะค่อยๆ รู้ความเจริญ ความก้าวหน้าขึ้นของปัญญาว่า ตอนนี้ไม่ต้องคอยแล้ว มีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติเกิดก็ระลึกที่ลักษณะนั้นเอง ไม่ใช่เราที่จะต้องไปคอย แล้วก็ถ้าสติหมดไป ก็คือหลงลืมสติ
เพราะฉะนั้นบางทีก็คิดเรื่องราวต่างๆ ต่อไป แล้วก็มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นปรมัตถธรรมทั้งนั้นแหละ แต่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นเรา แล้วก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ก่อนที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา ไม่มีเรื่องราว มีปรมัตถธรรมเท่านั้นจริงๆ ซึ่งจะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทีละน้อยจริงๆ อย่าคิดว่า จะละมาก หรือว่าจะถึงพระนิพพานเร็วๆ แต่ว่าเป็นปัญญาจริงๆ ที่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็จะรู้ลักษณะขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ แล้วเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมมากขึ้นก็จะรู้ได้ว่า นามธรรมประเภทนี้เป็นวิบากนั่นเอง และนามธรรมประเภทอื่นไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะเหตุว่ากำลังเห็น เพียงเห็น ยังไม่ได้ชอบหรือชังอะไรเลย ยังไม่ได้คิดเรื่องราวอะไรเลย แต่เห็นมี โดยที่ว่าจะไม่อยากเห็นก็ไม่ได้ ใครก็ตามที่ไม่อยากเกิด ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน เป็นสิ่งที่สุดวิสัย เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิด ก็ต้องมีปฏิสนธิ เมื่อมีการเกิดมาแล้ว ก็จะมีการดำรงภพชาติ แล้วในระหว่างที่ดำรงภพชาติ ก็จะมีการเห็นการได้ยิน
เพราะฉะนั้นการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ถ้าสติระลึกได้ จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่วิบาก คือไม่ใช่เพียงเห็น แต่เป็นการคิดแล้วก็เป็นเรื่องราวต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดไม่ใช่วิบาก
ผู้ฟัง ดิฉันขอถามนิดหนึ่งนะคะ คือได้กับตัวเอง พอมาศึกษา ศึกษาไปศึกษาไป บางครั้งเมื่อได้ยิน แต่ว่ามันจะเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา อื้อ ไอ้นี่มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ท่องเอาอย่างนี้ ก็รู้สึกอันนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานเลย คือ ท่องเอา ทำอย่างไรมันถึงจะไม่ต้องท่องเอาได้
ท่านอาจารย์ ไม่มีเรื่องทำอย่างไร ค่อยๆ อบรมไป สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหมคะ แล้วต่อไปก็จะเกิดไหม
ทีนี้ประเด็นนี้น่าสนใจที่ว่า ใจคุณสุรีย์คิดอย่างไร เพราะว่าคนตั้งหลายคนที่ฟังพระธรรมแล้วก็บอกว่า สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็เป็นความจริง แต่ว่าอยากให้สติปัฏฐานเกิดไหม
นี่เป็นจุดที่จะทำให้ผิดหรือถูก เริ่มเข้ามาแล้ว เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด ต้องทราบว่าพระธรรมทั้งหมดของพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อการละ ใครก็ตามซึ่งมีความสนใจในพระธรรม ต้องรู้จุดว่า เพื่อที่จะละกิเลส ละความไม่รู้ แต่ถ้าใครก็ตามซึ่งสนใจพระธรรมเพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเอา คนนั้นผิดตั้งแต่ต้น แล้วก็จะไม่ได้อะไรเลย ถึงจะมีความรู้มากสักเท่าไร แต่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเองเพราะเหตุว่าไม่มีการละอะไรเลย เป็นเรื่องตัวเองทั้งหมดที่รู้ ที่เก่ง ที่ดี ที่ฉลาด ไม่ได้ละไม่ได้ขัดเกลาอะไร แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เห็นภัย เห็นโทษของอกุศล แล้วก็รู้ว่า พระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เกิดปัญญา แล้วเรื่องของการละเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา ไม่มีตัวตน ความเห็นผิดละอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นอกุศล แต่กุศลหรือปัญญาเท่านั้นที่จะละได้
เพราะฉะนั้นแม้แต่ในเรื่องของการที่จะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการที่ปัญญาจะข้ามจากขั้นปริยัติถึงขั้นอบรมเจริญภาวนา ผู้นั้นก็จะต้องพิจารณาว่า เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด แล้วอยากให้เกิดไหม
ผู้ฟัง ไม่อยากค่ะ คือว่าดิฉันคิดว่า ถ้าดิฉันอยาก ดิฉันก็เหนื่อย ถึงเรียนถามอาจารย์ว่า ดิฉันชอบสบายๆ ให้มันเกิดของมันขึ้นมาเอง มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร
ท่านอาจารย์ อันนี้อาจจะเคยผ่านมาแล้วว่า อยากแล้วก็ไม่ได้อะไร
ผู้ฟัง มันเหนื่อยค่ะ
ท่านอาจารย์ เหนื่อยจริงๆ นะคะ ทุกคนเป็นอย่างนั้น จะไม่ได้อะไร นอกจากเหนื่อยเปล่า เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องอยาก เรื่องที่ว่า มีเหตุปัจจัยพอที่สติปัฏฐานจะเกิดหรือยัง ถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติปัฏฐานเกิด เวลาสติเกิด รู้ได้ทันที นั่นเป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่เราจะทำ
นี่ก็เริ่มละการเป็นตัวตนที่จะทำ แต่ว่ามีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึก แล้วจะรู้ลักษณะของสติด้วย เพราะเหตุว่าในมหาสติปัฏฐานจะมีข้อความที่แสดงว่าลักษณะของสติปรากฏ ไม่ใช่ว่าคนนั้นจะไม่รู้ลักษณะของสติเลย แต่ว่าในขณะใดที่สติปรากฏลักษณะ ขณะนั้นลักษณะของสติปรากฏด้วย ธรรมปรากฏด้วย
ผู้ฟัง แต่สติก็ปรากฏ พอเราได้ยิน เราไม่ชอบ พอไม่ชอบปุ๊บ นี่เป็นสติหรือเปล่าไม่ทราบ อันนี้มันทำให้เราไม่สบายใจ ไม่ใช่เรื่อง มันเกิดตามเหตุปัจจัย อันนี้มันก็ทำให้เราสบายใจขึ้น แทนที่เราจะโกรธ อันนี้มันเกิดสติ ...
ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็เรานะคะ ไม่ใช่สติเกิด ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่รู้จะใช้สรรพนามอะไร ที่จะพูดออกมาได้ ถ้าเผื่อมันไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ สติเกิด จะรู้ลักษณะของสติ
ผู้ฟัง จะเป็นที่ภาษาก็ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ภาษา ไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องลักษณะของสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเกิดหรือยัง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีการรู้ลักษณะของสติปัฏฐานเลย จะพูดเรื่องลักษณะของสติสักเท่าไรก็ตาม แต่จะไม่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด
ผู้ฟัง ดิฉันก็อยากจะเรียนถามแทนผู้เข้าร่วมสนทนา ท่านเขียนมาว่า อารมณ์เกิดที่ไหนให้ระลึกรู้ที่นั่น จริงหรือไม่ แล้วมันก็จะดับไปเอง ถามอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ รู้หรือไม่รู้ อารมณ์ก็ดับทันทีที่เกิด สั้นมาก ดับแล้ว โดยมากจะหาที่เกิดกันว่า เกิดที่ไหน ระลึกที่นั่น แต่ความจริงเวลานี้มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ อย่างสีที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น ไม่ต้องไปหาที่ แต่รู้ และพยายามเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่างเวลาที่กระทบแข็ง จำเป็นต้องไปหาที่ไหมคะ ในเมื่อลักษณะของแข็งปรากฏ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า รู้แข็งไม่ใช่แข็ง ไม่มีเราที่กำลังรู้แข็ง แข็งก็ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุชนิดหนึ่ง แล้วสภาพที่แข็งปรากฏกับสิ่งหรือนามธรรมที่รู้แข็ง ถ้าไม่มีนามธรรมที่กำลังรู้แข็ง แข็งนั้นปรากฏไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นขณะที่แข็งปรากฏ ก็แสดงว่ามีสภาพรู้แข็งในขณะนั้น ไม่ใช่เราอีกต่อไป แต่กว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพรู้ แยกออกจากแข็งแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจว่าตรงไหน เพราะว่าแข็งก็ต้องมีตรงนั้น ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปหาที่เกิดของแข็งอีก