เครื่องยึดหน่วงจิต
ผู้ฟัง เผอิญมีผู้ร่วมสนทนาถาม คนปกติมีสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานของพระพุทธองค์ สรุปแล้วคนทั่วไป สติยังไม่สมบูรณ์
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ คือพูดกันเอาเอง โดยที่ไม่ได้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ถ้าสภาพปรมัตถธรรมที่เป็นสติ จะเรียกชื่ออะไรก็ได้ แต่ลักษณะอาการนั้นต้องเป็นสภาพที่เป็นโสภณธรรม
ผู้ฟัง หมายความว่า ที่คำว่าสติ เขาก็เป็นภาษาของเขา แต่ไม่ใช่สติ เหมือนสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจลักษณะของสติ
ผู้ฟัง แล้วอีกประโยคหนึ่งถามว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สี เสียง เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์เท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ส่วนหนึ่งหมายความอย่างไรคะ
ผู้ฟัง คงจะเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ อารมณ์ชนิดหนึ่ง ชนิดหนึ่ง แต่ละชนิด แข็งก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง เสียงก็เป็นอารมณ์ ถ้าใช้คำว่า “อารมณ์” หรือ “อารัมมณะ” ต้องทราบว่าหมายความว่าสิ่งที่จิตกำลังรู้ แข็งที่โต๊ะ ถ้าไม่มีจิตที่กำลังรู้แข็ง แข็งนั้นไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์ เป็นแต่เพียงโผฏฐัพพะ แต่ถ้าเป็นโผฏฐัพพารมณ์ ต้องแสดงว่าเป็นอารมณ์ของจิตประเภทหนึ่ง ประเภทใด
คราวก่อนดิฉันฟังอาจารย์สมพร ท่านก็ได้ให้ความหมายของคำว่า “อารัมมณะ” กับ “อาลัมพนะ” เพราะว่าเท่าที่เรียนๆ มา โดยมากเราจะใช้เพียงคำเดียว คือ ใช้คำว่า “อารมณ์” หรือ “อารัมมณะ” แต่จริงๆ แล้ว ถ้าดูในภาษาบาลี จะเห็นว่ามีคำว่า “อาลัมพนะ” บ่อยๆ ไม่ใช่มีแต่คำว่า “อารัมมณะ“ ไม่ทราบว่าภาษาบาลีใช้คำไหนมากกว่ากันคะ อารัมมณะ กับอาลัมพนะ
อ.สมพร โดยมากในวิถีจิต ก็เห็นว่า ใช้อาลัมพนะ แต่ว่าทั่วๆ ไปใช้อารมณ์ ส่วนมากใช้คำว่าอารมณ์ ก็พอจะเข้าใจง่าย ความจริงก็ถ้าภาษาไทยก็อย่างเดียวกัน
ท่านอาจารย์ เรื่องภาษาบาลีนี้เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี แต่ว่าสำหรับผู้ที่รู้ภาษาบาลีแล้วก็ชำนาญเหมือนคนที่ขับรถคล่อง ไม่ว่าจะมีอะไรก็สามารถที่จะแก้ไขได้ หรือว่าเข้าใจได้ลึกซึ้ง อย่างอารัมณปัจจัย ไม่เคยใช้คำว่า อาลัมพนปัจจัย ใช่ไหมคะ แต่ว่าพอถึง ตทาลัมพนะ หรืออาลัมพนะ จะใช้แทนกันได้ และมีหลายแห่งทีเดียวที่ใช้อาลัมพนะ อารามมะ กับ อาลัมพนะ
อ.สมพร อารามก็เช่นเดียวกับ มาจากศัพท์เดียวกันครับ
ท่านอาจารย์ บางทีก็เสียงสั้น บางทีก็เสียงยาว พอถึงอารมณ์ก็อาลัมพนะ สั้นๆ พอถึงอารามณะก็ยาว โดยที่ว่ารากศัพท์อันเดียวกัน แต่ถ้าจะเข้าใจลักษณะของจิตโดยพยัญชนะ หลายๆ พยัญชนะ จะทำให้เข้าใจขึ้น อย่าง “อาลัมพนะ” หมายความถึงสิ่งที่ยึดหน่วงจิตหรือคะ
อ.สมพร อาลัมพนะ หมายความว่า เป็นเครื่องยึดหน่วงให้จิตเกิดขึ้น จิตที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นอารมณ์เกิดขึ้น หรือเครื่องยึด หมายความว่า อารมณ์เป็นเครื่องยึดหน่วงให้จิตเกิดขึ้น จิตที่จะเกิดขึ้นได้ก็เป็นเครื่องยึดหน่วง หมายความว่าอารมณ์เป็นเครื่อง ยึดหน่วงทำให้จิตเกิดขึ้นนั่นเอง แปลว่ายึดหน่วงให้เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าเข้าใจความหมาย จะเห็นได้ว่า ที่เราคิดว่าจิตเป็นสภาพที่สำคัญมากมาย แท้ที่จริงถ้าปราศจากอารมณ์ หรืออาลัมพณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตยึดหน่วงที่จะเกิดแล้วละก็ จิตเกิดไม่ได้เลย
นี่ค่ะ แม้แต่สิ่งที่ดูสำคัญ เป็นมนายตนะ เป็นอินทรีย์ เป็นมนินทรีย์ แต่กระนั้นก็ยังต้องอาศัยปัจจัย คือ อารมณ์ แล้วตามข้ออุปมาที่ว่า จิตเหมือนกับคนทุพลภาพ เหมือนคนชรา ไร้เรี่ยวแรง เวลาที่จะลุก จะนั่ง จะเคลื่อนไหว ก็ต้องอาศัยเครื่องยึดหน่วง คือ เชือกหรืออะไรสำหรับที่จะโหน ทำให้ลุกขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นคนชราที่ทุพลภาพ ก็จะเห็นคำอุปมาที่ทำให้เข้าใจลักษณะของจิตว่า อารมณ์เหมือนกับเชือกซึ่งหน่วงให้จิตเกิด ทำให้จิตยึดแล้วก็เกิดขึ้นได้
แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องอาศัยปัจจัยจริงๆ แม้แต่จิต ถ้าปราศจากอารมณ์ก็เกิดไม่ได้ แล้วเมื่ออารมณ์มี แล้วก็จิตกำลังรู้อารมณ์แล้ว ปรากฏว่าจิต นั้นเองก็พอใจในอารมณ์ทุกอารมณ์ที่จิตรู้ เป็นอารัมมณะหรืออารามมะ เป็นที่ยินดี ที่พอใจของจิต
จะเห็นได้ว่า จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ และมีความพอใจที่จะรู้อารมณ์ด้วย ขณะนี้ที่เห็นทางตา เกือบจะไม่รู้สึกเลยว่า พอใจแล้วที่เห็น ในรูปที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเลยว่าวิถีจิตสั้นๆ ที่เพียงเห็นแล้วจะเกิดความยินดีพอใจได้อย่างไร ก็เพราะเหตุว่าอารมณ์ทุกอารมณ์เป็นอารัมมณะ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจ จิตยินดีพอใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
ทางหู เสียงนิดเดียว เกือบจะไม่รู้เลยว่า ไม่ว่าจะอะไรก็ตามที่เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีความพอใจในอารมณ์นั้นแล้ว ช่างรวดเร็วนะคะ แล้วก็เป็นไปโดยที่ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า ไม่พอใจในรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกาย ส่วนที่ไม่พอใจก็เป็นอนิจฐารมณ์ คือ อารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจก็เป็นของธรรมดาอีก ซึ่งอารมณ์ก็ต้องมีทั้งอารมณ์ที่ดี และอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์ที่ไม่ดีอย่างเดียว หรือว่ามีแต่อารมณ์ที่ดีอย่างเดียว ต้องมีอารมณ์ที่ดีก็มี อารมณ์ที่ไม่ดีก็มี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งใดที่เป็นอารมณ์ จิตก็มีความต้องการหรือว่าพอใจในอารมณ์นั้น