รู้ภวังคจิตได้หรือไม่
ผู้ฟัง สำหรับเรื่องของจิตที่เป็นภวังคจิต ที่เป็น ๓ ลักษณะที่ว่านี้ จำเป็นไหมครับที่ว่าจิต ๓ ลักษณะนี้ ที่ว่าไม่รู้แล้วทำไมจึงสามารถที่จะมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราว แล้วสามารถที่จะบอกให้พวกเรารู้ได้ว่า ลักษณะอดีต อดีตภวังค์เป็นอย่างนั้น ลักษณะที่เป็นภวังคจลนะเป็นอย่างนั้น ขณะที่ภวังคุปัจเฉทะเป็นอย่างนั้น ทำไมเราจึงรู้ได้ เพราะเหตุใด อันนี้คงจะเป็นเพราะว่าเราอาศัยอะไรเหตุอะไร เราจึงสามารถที่จะมาเรียนกันอย่างนี้ครับ กระผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ที่ว่ารู้ได้ คงจะต้องเป็นเพียงรู้ได้ตามหนังสือ เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็นหรือกำลังได้ยินก็เหมือนพร้อมกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะไปรู้ลักษณะที่ต่างกันของภวังคจลนะกับภวังคุปัจเฉทะ แต่ที่เราเคยได้ยินคำว่าภวังค์ แล้วก็ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรม บางคนก็อาจตีความหมายไปต่างๆ อย่างคนนั่งเฉยๆ ไม่พูดไม่จา เขาก็บอกว่าคนนี้เข้าภวังค์แล้ว หรืออะไรอย่างนี้ แต่ว่าต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องทราบว่า ภวังค์ หมายความถึงจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทำหน้าที่ของตนแล้วดับ ซึ่งเร็วที่สุด แทบจะว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปนับได้ อย่างนับอายุของรูปซึ่งเกิดดับเร็วว่า เกิดดับเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ
เพราะฉะนั้นที่จะไปรู้ความละเอียดของจิตทั้งหมด ต้องอาศัยเหตุผลการพิจารณา และประโยชน์ว่า รู้ทำไม มีประโยชน์อะไรในการที่จะเรียนเรื่องจิตต่างๆ เหล่านี้ เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
ขอย้อนไปนิดหนึ่งซึ่งพูดถึงการสะสมของจิต ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ทุกคน ประโยคนี้สั้นๆ แล้วก็อยู่ในตำราที่ว่า จิตเกิดดับสะสมหรือสั่งสมสันดานของตน แต่ที่ถูกแล้วชีวิตประจำวันพิจารณาให้เห็นการสั่งสมของจิต แม้แต่ขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ก็คือกำลังสั่งสมความสนใจในพระธรรม หรือการเข้าถึงลักษณะของจิต ซึ่งแม้ว่าจิ เจ รุ นิ มีอยู่เพียงคำสั้นๆ ๔ คำ แล้วก็ จิ เจ รู ก็คือ จิต เจตสิก รูป ๓ คำ ที่ย่อจากจิตมาเป็น จิ ย่อจากเจตสิกมาเป็น เจ ย่อจากรูปมาเป็น รุ ยิ่งสั้นลงมาใหญ่ ก็ยังไม่รู้ ก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์ ก็ยังจะต้องอยู่กับ ๓ คำนี้ จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ต้องเข้าใจว่าก่อนอื่นพิสูจน์ธรรมในชีวิตประจำวัน ภวังคจิตมีแน่นอน แต่ว่าเวลานี้ก็มีภวังคจิตเกิดสลับระหว่างวิถีวาระหนึ่งกับอีกวาระหนึ่งที่เห็น เพราะว่าจะเห็นกับได้ยินพร้อมกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นระหว่างเห็นกับได้ยินต้องมีภวังคจิตแล้ว แต่ก็ไม่รู้อีก ใช่ไหมคะ ภวังคจิตระหว่างวาระที่เห็นกับวาระที่ได้ยิน หลายขณะมาก เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะไปรู้อดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปเฉทะ
แต่ให้ทราบว่าวิธีนับภวังค์ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตขณะแรกที่เกิดขึ้นดับไป อย่างเร็วที่สุดนั้น กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ทำให้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นทำให้ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ขณะแรกเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต แล้วหลังจากนั้นมา เหมือนกระแสน้ำซึ่งไม่มีใครจะไปจับ ไปวัดได้เลยว่า น้ำที่ไหลไปมีจำนวนอณูเท่าไร
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อกันของภวังค์เป็นกระแส ระหว่างซึ่งยังไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลาที่อารมณ์จะปรากฏแต่ละครั้ง ในขณะที่จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ จะมีขณะนี้ ที่ทุกท่านกำลังเห็น เวลานี้เห็น แต่ให้ทราบว่า ก่อนเห็นต้องมีภวังค์ หรือว่ากำลังได้ยินก็ตาม ก่อนได้ยินก็ต้องมีภวังค์ เรียกว่าระหว่างที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ต้องมีภวังคจิต และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นรูปซึ่งมีลักษณะที่จะปรากฏก็ต่อเมื่อกระทบกับปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับรูปนั้นๆ ได้ เช่น ทางตาในขณะนี้ ทุกคนเห็นแล้ว ก็มาพิจารณาว่า ที่กำลังเห็น มีรูปที่กำลังปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท แสดงว่าจักขุปสาทต้องมี ถ้ามีคนตาบอดนั่งอยู่ที่นี้ ไม่มีทางที่สีสันวัณณะในขณะนี้จะกระทบกับจักขุปสาท หรือว่ามีจิตเห็นได้
เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง มีจักขุปสาทแน่นอน แล้วก็มีรูปที่กระทบ แต่เวลาที่รูปกระทบกับจักขุปสาทในขณะนั้น จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ กำลังเป็นกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้นรูปก็เกิดดับเร็วมาก แทบจะกล่าวได้ว่าพอกระทบแล้ว ไม่เท่าไรแล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า ก่อนรูปที่มีอายุสั้นเหลือเกินจะดับ จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานอะไรบ้างในขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะแสดงว่า รูปนั้นเกิดแล้วกระทบกับปสาทรูป ขณะนั้นที่กระทบเป็นอดีตภวังค์ คำเดียวก่อน คือ อดีตภวังค์ ถ้าเห็นอดีตภวังค์ที่ไหนในพระไตรปิฎกหรือว่าในอรรถกถา ก็ให้ทราบว่าต้องเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ ต้องมีอารมณ์ที่มากระทบกับปสาทรูปนั้น เพราะเหตุว่าการที่มีอดีตภวังค์ ก็จะแสดงว่า รูปนั้นจะมีอายุต่อไปอีกกี่ขณะของจิต แล้วก็ดับ เพราะว่าไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ รูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะเท่านั้น รูปจะกระทบตา หรือไม่กระทบตา รูปก็มีอายุอย่างสั้นมากเพียงแค่ ๑๗ ขณะ
เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นคำว่า อดีตภวังค์ แสดงให้ทราบว่า เป็นรูปที่กระทบกับปสาทรูป เช่น สีสันวัณณะกระทบกับจักขุปสาท หรือว่าเสียงกระทบกับโสตปสาท ขณะที่เกิด และกระทบขณะนั้นเป็นอดีตภวังค์
ผู้ฟัง ในขณะนี้ก็มีอดีตภวังค์อยู่ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ กำลังเห็น ก่อนเห็นต้องมีภวังค์ ภวังค์ที่ยังไม่ถูกกระทบเลย แล้วเวลาที่รูปเกิดกระทบ ขณะนั้นเป็นอดีตภวังค์
ผู้ฟัง ก็แสดงว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ มีอดีตภวังค์อยู่ แต่ว่าอดีตภวังค์นั้นท่านอาจารย์รุ่นเก่าๆ บอกว่า มีอารมณ์ของภพก่อนอยู่ ก็แสดงว่า นั่งอยู่นี้ก็มีอารมณ์ของภพก่อนอยู่ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ คือว่าไม่ใช่ว่านั่งอยู่นี้มีอดีตภวังค์ อันนี้ต้องเข้าใจความต่างกัน นั่งอยู่นี้ไม่ใช่มีอดีตภวังค์ เป็นภวังคจิต ระหว่างที่ไม่มีการกระทบอารมณ์ใดๆ เลย
ผู้ฟัง หมายความว่ามีภวังคจิตอยู่ในขณะที่นั่งอยู่ขณะนี้ใช่ไหมครับ มีภวังคจิตเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตาม ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย ขณะนั้นต้องเป็นภวังคจิต ภวังคจิตเท่านั้น ยังไม่ใช้คำว่าอะไร
ผู้ฟัง ยังไม่แยกเป็น ๓ อย่าง
ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่า อดีตภวังค์ไม่ได้
ผู้ฟัง ไม่ได้ ในช่วงนี้ยังพูดไม่ได้ นะครับ
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่รูปไม่กระทบกับปสาทรูป เป็นภวังคจิต
ผู้ฟัง ครับ ก็แสดงว่าภวังคจิตนั้นอยู่ในขณะนี้ที่เรานั่งอยู่ ก็มีภวังคจิตเกิดสลับอยู่กับจิตที่ขึ้นสู่วิถีอย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่สิ้นชีวิต แล้วยังไม่มีการเห็น การได้ยิน ต้องมีจิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ แต่ละขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว ทีละขณะสั้นๆ ทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติอยู่
ผู้ฟัง อันนี้อธิบายได้ไหมครับว่า ภวังคจิต ความรู้สึกของภวังคจิตในขณะนี้ มีความผ่องใส มีความสบาย มีความรู้สึกอย่างไร เราอธิบายในลักษณะเป็นภาษาพูดได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางนะคะ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ จะเห็นอะไร เราสุขเราทุกข์เพราะเห็น เราสุขเราทุกข์เพราะได้ยิน สุขทุกข์เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิด ไม่ฝัน ขณะนั้นสุขหรือเปล่า จะใช้คำว่าอะไร เพราะเหตุว่าอารมณ์ไม่ปรากฏเลยเหมือนคนที่กำลังหลับสนิท เวลาที่หลับสนิทไม่รู้จักโลกนี้ ไม่รู้จักตัวเองเป็นใครที่ไหนอย่างไรก็ไม่ทราบ