รับผลของกรรมทั้งหลับและตื่น
ผู้ฟัง ภวังคจิตเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมของผู้ที่สะสมอย่างนั้นมา จึงต้องมาหลับ อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสที่จะรับผลของกรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้ภวังคจิตเกิด
ผู้ฟัง ครับ ทีนี้เรามาศึกษาเรื่องภาษาบาลี เราไม่เข้าใจเรื่องบาลี ทีนี้เมื่อเป็นภาษาไทยแล้วก็บางทีก็เกิดความสับสนเหมือนกัน อันนี้อยากให้อาจารย์ลองวินิจฉัย ชี้ประเด็นอันนี้ให้ชัดๆ อีกทีครับ ขอความกรุณา ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ นี่เป็นเรื่องความยากจากภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจสภาพปรมัตถธรรมหรือสภาพธรรมแล้ว ก็เข้าถึงความหมายของคำที่เราใช้เท่านั้นเอง อย่างเวลานี้ ถ้าเราจะพูดถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ก็หมายความว่า เราทุกคนขณะนี้กำลังเห็น แล้วเราก็ทราบว่า จิตเห็นเป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งต้องมีแน่ๆ เพราะเหตุว่าขณะนี้กำลังเห็น สภาพที่เห็นมีจริง แต่เพียงใช้คำว่าสภาพที่เห็น ก็ดูจะลึกลับ แล้วก็พูดตามๆ กัน แต่ว่าลักษณะที่เห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นเพียงธาตุรู้ หรือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง แค่นี้ ภาษาไทยบ้าง ภาษาบาลีบ้าง ก็ยังจะต้องพยายามเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือว่าสภาพที่ได้ยินในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เสียงก็มีจริง แต่เสียงไม่ใช่ได้ยิน
นี่คือการที่จะพยายามเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเป็นภาษาบาลี
เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาภาษาบาลี ก็แปลศัพท์โดยคำ หรือว่าโดยความหมายของพยัญชนะ แต่ก็ไม่เข้าถึงอรรถ จนกว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด และดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แล้วก็ไม่มีใครที่หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จะไม่มีจิตอื่นเกิดต่อ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มี ก็หมายความว่า เป็นต้นกำเนิดที่จะให้จิตเริ่มเกิดดับ เกิดดับสืบต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นชีวิตที่ใช้คำว่า “จุติ” แต่ก่อนที่จะสิ้นชีวิต กรรมก็ยังให้ผล
ให้ทราบว่าการที่เราใช้คำว่ากรรมก็ดี หรือว่าวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็ดี ก็คือชีวิตประจำวันซึ่งเราจะต้องเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรม ทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นขณะแรกสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นอย่างนี้เนิ่นนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ คิดดูถึงความไม่สิ้นสุดของธาตุชนิดหนึ่ง คือ จิต ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ สืบต่อไป จะใช้คำว่า สมมติมรณะ คือ ตาย ก็ต้องมีการเกิดอีก แล้วก็ตาย แล้วก็เกิดอีก และเมื่อปฏิสนธิจิตดับ กรรมทำให้ภวังคจิตเกิดต่อ เป็นผลของกรรมด้วย ให้ทราบว่าการที่จะมีชีวิตอยู่ ยาวสั้น มากน้อยก็เป็นเพราะกรรม หรือแม้แต่การที่เราจะเห็นสักครั้งหนึ่ง ได้ยินอะไรสักครั้งหนึ่ง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสในขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้ทราบว่า นอกจากเกิดมาเป็นผลของกรรม แล้วก็ยังจะต้องมีชีวิตอยู่ตลอดไปจนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนั้น ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ก็ยังจะต้องมีการรับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่วิถีจิต หรือว่าการเกิดดับสืบต่อของจิตต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ใช้คำว่า อนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัย หมายความว่าไม่มีใครไปบังคับ จิตจะต้องเกิดดับสืบต่อทำกิจการงาน ตามหน้าที่ ตามควรแก่ฐานะของการเกิดขึ้นเป็นจิตประเภทนั้นๆ อย่างภวังคจิต เกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว ทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติ โดยที่ว่าขณะนั้นไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย แต่ไม่ใช่ว่าคนนั้นตาย ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามีจิต กำลังเป็นภวังค์ ไม่รู้หรอกว่ามีจิต ทั้งๆ ที่จิตเกิดดับ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกแล้วละก็ จะไม่มีใครรู้เลยว่ามีจิต ทั้งๆ ที่จิตเกิดแล้วก็ดับสืบต่อดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าจิตขณะนั้นทำกิจภวังค์ ดำรงภพชาติ
นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การศึกษาเรื่องจิต ก็จะต้องรู้ว่า จิตนั้นทำกิจอะไร แล้วจิตที่ทำกิจนั้นเป็นชาติอะไร เป็นเหตุ คือ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือว่าเป็นผล คือ เป็นวิบาก หรือไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่ทั้งเป็นจิตที่เป็นเหตุ และไม่ใช่ทั้งจิตที่เป็นผล แต่ เป็นกิริยาจิต คือ เมื่อไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล แต่ว่ามีปัจจัยเกิดขึ้นก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งใช้คำว่ากิริยาจิต