ขณะนี้กำลังรับผลของกรรม
เพราะฉะนั้นเราศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจชีวิตประจำวัน โดยที่ว่าคำภาษาบาลีจะค่อยๆ แทรกเข้ามาทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็คงจะไม่ยากนักต่อการที่จะจำ อย่างคำว่า “ปฏิสนธิ” ถ้าไม่ศึกษาธรรม อาจจะไม่ทราบว่าหมายความถึงเกิดขึ้นสืบต่อจากชาติก่อน เป็นจิตขณะแรก เพราะว่าบางคนจะใช้คำว่าจุติ คล้ายๆ กับว่าจุตินี้คือเกิด แต่ความจริงไม่ใช่ จุติคือเคลื่อนจากภพชาติ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ หมายความถึงขณะสุดท้ายซึ่งเป็นการตาย ไม่ใช่การเกิด
นี่ก็ ๒ ประเภท หรือว่า ๒ กิจแล้ว ซึ่งคงจะไม่มีใครสงสัย เพราะว่าก็ทวนกันไปทวนกันมาเรื่องของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต แต่ก่อนที่จะมีวิบากจิตเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กระแสของจิตซึ่งเป็นภวังค์เกิดดับสืบต่ออยู่
เพราะฉะนั้นการเห็น หมายความว่าต้องมีรูป หรือธาตุชนิดหนึ่งที่กระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น นี่เป็นทางตา ถ้าเป็นทางหู ก็คือเสียงต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งคนหูหนวกไม่มีโอกาสที่จะรู้เลยว่า เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การรับผลของกรรมที่จะได้รับผลทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้เอง ทุกคนไม่ลืมว่า ขณะนี้กำลังเป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว ที่ได้ยินเสียงที่จะทำให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง ไม่เหมือนกับเสียงอื่นซึ่งได้ยินแล้วก็ผ่านไป ไม่ทำให้สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ หรือว่าการเห็นก็ตาม การได้กลิ่น พวกนี้ก็เป็นผลของกรรมซึ่งก่อนที่จากภวังคจิต ซึ่งไม่รู้อะไรเลย แม้ว่าจิตเกิดดับ ก็ไม่รู้ว่า จิตนั้นมีลักษณะอย่างไร หรือไม่รู้แม้ว่ามีจิต เพราะขณะนั้นภวังคจิต ดำรงภพชาติ โดยที่ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นขณะที่เปลี่ยนจากการเป็นภวังค์สู่การที่จะเป็นผลของกรรมทางหนึ่งทางใด เมื่อรูปทางหนึ่งทางใดกระทบปสาททางหนึ่งทางใด ขณะนั้นต้องกระทบภวังค์ เพราะว่าจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอดีตภวังค์ หรือภวังค์คจลนะ หรือภวังคุปัจเฉทะก็ตาม ภวังค์คือภวังค์ คือ สภาพที่ไม่รู้อารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อย่างไร ภวังค์ก็มีอารมณ์อย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้แน่นอน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอารมณ์ของโลกนี้ เรารู้ว่าเราอยู่ในโลกนี้เพราะเห็นโลกนี้ เพราะได้ยินเสียงของโลกนี้ ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพยายามศึกษาไปช้าๆ แต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ว่า เราเกิดมาเป็นผลของกรรม แล้วก็เราก็กำลังรับหรือว่าเป็นผลของกรรมขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยินขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งกระทบสัมผัส
เพราะฉะนั้นมีทางอยู่ ๕ ทาง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ทวาระหรือทวาร ๕ ก็คือ ปัญจ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญจทวาร ในภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็คงจะต้องออกเสียงว่า ปัญ จะ ทวา ระ ใช่ไหมคะ นี่คือทวาร ยังไม่ใช่จิต ถ้าพูดคำว่าปัญจ ๕ แล้วก็ทวาร คือ ทางก็คือ ๕ ทาง นี้ยังไม่ใช่จิตเลย เป็นแต่เพียงทางที่จะรู้อารมณ์โดยอาศัยตา ๑ ทาง หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย แต่เวลาใช้คำว่าอาวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนะหมายความถึงจิตซึ่งไม่ใช่ภวังคจิตอีกต่อไป พ้นสภาพของการเป็นภวังคจิต เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์สู่อารมณ์ที่กระทบ
เพราะฉะนั้นจิตในขณะนั้นยังไม่เห็น ถ้าเป็นสิ่งที่กระทบตา ปัญจทวาราวัชชนะ จิตไม่เห็น ถ้าเป็นเสียงที่กระทบหู ปัญจทวาราวัชชนะก็ไม่ได้ยิน ถ้าเป็นกลิ่นแม้กระทบกับฆานปสาท ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ภวังคจิตเป็นวิถีจิตขณะแรก แต่ยังไม่ใช่จิต ขณะที่กำลังได้กลิ่นจริงๆ
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีการเห็นจริงๆ ได้ยินจริง ได้กลิ่นจริง ลิ้มรสจริง รู้สิ่งที่กำลังกระทบจริง จะต้องมีวิถีจิตแรกเกิดก่อน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าตามภาษาบาลีก็อย่างที่งงๆ กันว่า เป็นจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ นี่คือแปลโดยศัพท์ แต่คนไทยเราถ้าใช้คำว่ารำพึงแล้วก็ยาว เป็นเรื่องเป็นราว รำพึงต้องเป็นเรื่อง แต่ว่านี่เป็นจิตขณะเดียวที่เกิดขึ้น พ้นจากสภาพที่เป็นภวังค์ เพราะเหตุว่าอารมณ์กระทบ และภวังค์ไหว หลังจากที่อดีตภวังค์เป็นขณะแรกที่รูปกระทบดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ภวังค์ที่เกิดต่อไหว ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคจลนะ และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังค์ต่อไปเป็นภวังค์สุดท้าย สิ้นสุดภวังค์ จึงใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ ถ้าใช้คำนี้แล้วหมายความว่า จิตขณะต่อไปจะเป็นภวังค์อีกไม่ได้ โดยเหตุโดยผลที่ว่า ถ้าใช้คำว่าภวังคุปัจเฉทะ หมายความว่า สิ้นสุดกระแสของภวังค์ ถ้าสิ้นสุดแล้ว จะมีภวังค์อีกไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต
เพราะฉะนั้นผู้ที่เพิ่งเริ่มฟังใหม่ๆ หรือว่าอาจจะรับฟังไม่ติดต่อกัน แต่ให้ทราบว่า ถ้าจะแยกออก แยกได้หลายนัยทีเดียว ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือว่าไม่ว่าจะเป็นภพไหนภูมิไหน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดที่จะให้แยกเป็นจิตหลายนัยได้
ถ้าจะแยกนัยหนึ่งก็คือว่า จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต อันนี้ก็จะช่วยมากทีเดียวที่จะให้เข้าใจว่า จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตนั้นไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มีใครสงสัยอีกในเรื่องว่า จิตอะไรไม่ใช่วิถีจิต มีอยู่ ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เท่านั้น ที่ไม่เป็นวิถีจิต นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิต เพราะเหตุว่าต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางหูก็เป็นโสตทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางจมูกก็เป็นฆานทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางลิ้นก็เป็นชิวหาทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางกายก็เป็นกายทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางใจก็เป็นมโนทวารวิถีจิต ถ้าไม่ใช่วิถีจิต ก็คือ ภวังคจิต เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตดับไปแล้วเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ครั้งเดียว ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วจุติจิตก็เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นก็เวลาที่ไม่ใช่วิถีจิตก็เป็นภวังคจิต