ศึกษาเพื่อเข้าถึงความละเอียดของธรรม
ท่านอาจารย์ ตอนนี้ทุกคนก็คงจะจำได้ว่า พอหมดของกระแสของภวังค์ซึ่งเป็นภวังคุปัจเฉทะแล้ว วิถีจิตต้องเกิด แล้ววิถีจิตแรกก็คือปัญจทวาราวัชชนจิต เพียงรู้สึกว่าอารมณ์กระทบ คงจะทำให้เข้าใจสภาพของจิตขณะหนึ่ง ซึ่งตอนที่เป็นภวังค์ไม่รู้ตัว ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เริ่มที่จะรู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ นั่นคือปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบ หรือว่าจะใช้คำว่าคิด หรือจะใช้คำว่านึกถึงอารมณ์โดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน แต่รู้ จะใช้คำว่ารู้ก็ได้ รู้ว่าอารมณ์กระทบ
ผู้ฟัง ผมเห็นในอรรถกถาบอกว่า น้อมไปสู่ก็มี หมายถึงลักษณะอันนี้หรือเปล่า รำพึงนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าคำว่า นามะหมายความถึง สภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ไม่ว่าเป็นจิต หรือเจตสิกก็ตาม สภาพของนามธรรมจะน้อมไปสู่อารมณ์ อย่างขณะนี้มีสี มีเสียง มีโผฏฐัพพะ แล้วแต่ว่าจิตใครจะน้อมไปสู่อารมณ์ใด เพราะเหตุว่าจิตนั้นเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์
ภวังคจิตก็ยังเป็นช่วงขณะที่ว่างจากอารมณ์ที่ปรากฏ สั้นๆ แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตเพียงขณะเดียวซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณจิตที่กำลังทำกิจเห็น
เพราะฉะนั้นเรื่องกิจของจิต ก็จะแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งปิดบังไม่ให้เห็นความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนจะเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่า ทำไมจะต้องรู้เรื่องของปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาธรรมแล้วก็มีการคิดพิจารณา ก็จะทำให้ตรงจุดประสงค์จริงๆ ว่า ทำไมจึงต้องรู้ เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่า ไม่รู้ได้ไหม ไม่ต้องจำได้ไหม ก็ให้รู้แต่เพียงว่า มีนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่างเท่านี้ก็พอ แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ความจริงไม่พอ ยิ่งรู้มาก ยิ่งเข้าใจมาก ก็จะทำให้เกื้อกูลเป็นสังขารขันธ์ ที่เมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจในขั้นของการฟังเพียงพอที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าทุกคนเวลานี้ก็ชินกับคำว่า นามธรรม และรูปธรรม ชินกับคำว่า จิต เจตสิก รูป แล้วก็รู้ด้วยว่า ตลอดชีวิตไม่มีอะไร นอกจากจิต เจตสิก รูป กำลังเห็นก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ แล้วก็ศึกษามาก็รู้ว่า เป็นรูป แล้วขณะที่กำลังเห็น สภาพเห็น ศึกษามาก็รู้ว่า เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ แต่ละอะไร เพียงรู้เท่านี้ ไม่สามารถที่จะละอะไรได้ เพราะเหตุว่าเพียงฟัง แล้วก็เพียงเข้าใจคำ คือเข้าใจเรื่อง แต่ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม คือ ไม่รู้ตัวจริงของธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องธรรม แล้วก็เข้าใจเรื่อง แต่ตัวจริงในขณะนี้กำลังเห็น ถ้าจะรู้ว่า เห็นขณะนี้เป็นเพียงธาตุรู้ นั่นคือรู้จักตัวจริง
เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการฟัง แม้แต่ว่าปัญจทวาราวัชชนะเป็นจิตที่มีจริง แล้วก็เป็นวิถีจิตแรกซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ แต่ว่ายังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ก็จะทำให้เข้าถึงความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่อให้คนฟังน้อมเห็นความเป็นอนัตตาว่า ทันทีที่รูปกระทบตา กระทบกับภวังค์ แล้วก็เป็นอดีตภวังค์ เมื่อดับไปแล้ว เป็นภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้ว เป็นภวังคุปัจเฉทะ ก็ยังเห็นทันทีไม่ได้ ยังจะต้องมีวิถีจิตขณะแรกซึ่งเกิดอย่างรวดเร็ว แล้วก็รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดแล้วก็ดับ
นี่คือในขณะนี้ ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นก็ค่อยๆ จำไป เพื่อที่จะได้ประกอบความเห็นว่า เป็นอนัตตา จนกว่าเมื่อสติระลึกแล้ว ก็สามารถที่จะหยั่งลงถึงสภาพที่เป็นอนัตตาของรูปธรรม และนามธรรมได้ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏโดยขั้นการฟัง อวิชชาไม่สามารถที่จะเข้าถึงสภาพของปรมัตถ์ จนกว่าสติจะระลึกแล้วก็ความรู้ที่อาศัยจากการฟังจะเกื้อกูลทำให้สามารถที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ไปนั่งๆ แล้วก็คิดว่า ประเดี๋ยวก็จะเกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้
เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงวันหนึ่งๆ ซึ่งเราเห็นก็ขอให้ทราบว่า หลังจากภวังคุปัจเฉทะซึ่งไม่ใช่วิถีจิตแล้ว วิถีจิตขณะแรกที่เริ่มทางทวารหนึ่งทวารใด เป็นวิถีจิตแรกนั้นต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน