เพราะสะสมมาจนมีกำลัง
ผู้ฟัง ถ้ามีปัญญาก็ตรึก ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา
ท่านอาจารย์ ที่ได้ยิน เราต้องพยายามเข้าใจให้ตรง เพราะว่าถ้าเราเพียงแต่ได้ยินแล้วก็พูดตามไป เราก็อาจไม่ทราบว่าเราคนหนึ่งที่ได้พูดตามไปโดยที่ยังไม่ได้เข้าใจชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ขอเรียนให้ทราบว่าทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าในขณะนี้เรากำลังพูดถึง อย่างที่ท่านผู้ฟังพูดถึงเรื่องทุกขลักษณะ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ที่เรากำลังพูดถึงเรื่องปฏิสนธิจิต ภวังคจิต แล้วก็อดีตภวังค์ เวลาที่อารมณ์กระทบ แล้วก็ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉท จนถึงปัญจทวาราวัชชนะ เพื่อที่จะให้เราเห็นความจริงว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยขั้นการฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วก็การที่เราไม่เคยได้ยินคำว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” มาก่อน ทำให้บางคนไม่อยากที่จะจำคำนี้ แล้วก็บอกว่าอายุมากแล้ว ไม่ชอบคำภาษาบาลี ท่องไม่เป็น คือมีเหตุผลหลายอย่างทีเดียวที่จะไม่เข้าใจสภาพของจิต
ที่ใช้คำว่า “ปัญจทวาราวัชชนะ” ไม่ได้มุงหมายให้ท่านผู้ฟังไปท่อง ไปจำ แต่มุ่งหมายให้เข้าใจลักษณะของจิต ในการที่จากภวังคจิต แล้วก็จะมีการที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายในขณะนี้
การศึกษาธรรม ที่จะรู้ทุกขลักษณะ ไม่พ้นจากทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคำอะไรที่จะใช้ ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม จนเห็นความเป็นอนัตตา โดยเป็นสัจญาณ แน่ใจจริงๆ ว่า ทุกขลักษณะไม่ใช่ขณะอื่น อย่างพูดถึงเรื่องภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นเรื่องจริง แต่ไม่ประจักษ์แจ้ง พูดถึงเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต ก็มีจริงๆ แต่ไม่สามารถที่จะรู้สภาพของปัญจทวาราวัชชนจิตได้ แม้เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ทราบเวลานี้ท่านผู้ฟัง ไม่ต้องท่อง แล้วก็จำได้หรือยัง
นี่คือจุดประสงค์ที่จะให้ทุกคนเรียนไปพร้อมๆ กัน โดยเข้าใจลักษณะของสภาพของจิตนี้ แล้วก็จะเป็นเหตุที่ทำให้จำชื่อไปเอง โดยที่ไม่ต้องท่อง อย่าง ปัญจ ก็ ๕ ทุกคนก็คงจะไม่มีปัญหา นับเป็นภาษาบาลี ปัญจ ก็คือ ๕ ทวาร ก็ประตู แล้วอาวัชชนะ อีกคำเดียวเท่านั้นเอง แล้วต่อจากนี้ก็จะเห็นว่า ภาษาบาลีนั้นไม่เกินความสามารถที่จะจำถ้าชินหู อย่างปัญจทวาราวัชชนะ วันนี้เอาแคนี้ อาทิตย์หน้าคิดว่ามีคนจะลืมไหมคะ ตั้งต้นด้วย ปัญจทวาร ซึ่งไม่ใช่จิต ต้องเข้าใจความละเอียดด้วยว่า ปัญจทวารไม่ใช่จิต แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก ต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ก่อนที่วิบากจิตจะเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมโดยต้องเห็น
การที่เรากำลังเห็น คงจะไม่ทราบว่าต้องเห็น เพราะว่าเป็นวิบาก กรรมที่ได้กระทำแล้วพร้อมด้วยปัจจัยสุกงอมที่จะให้เกิดผล คือวิบากจิตประเภทใดเกิด วิบากจิตประเภทนั้นก็เกิด คนที่กำลังหลับสนิท ไม่ได้ยินเสียงที่ตกใจน่ากลัว อีกคนหนึ่งวิบากทำให้ต้องได้ยินเสียงนั้นจึงตื่น ไม่ตื่นก็ไม่ได้ จะหลับก็เป็นผลของกรรม ที่ไม่ต้องได้เห็นไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น ผลของกรรมทำให้หลับ เวลาที่จะตื่นก็ผลของกรรมอีก
เพราะฉะนั้นถ้าใครนอนไม่หลับก็ทราบได้เลยว่า ทำอะไรได้ไหมในเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตกระทบสิ่งที่อ่อน ที่แข็ง เป็นที่นอน หรือว่าจะมีกลิ่นปรากฏ มีเสียงปรากฏเหล่านี้ หรือว่าจิตคิดนึก แม้ว่าจะไม่ใช่วิบากจิต แต่ก็เป็นการสะสมของกิเลสบ้าง กุศลบ้าง ที่ทำให้มีการตรึกนึกคิดไปเป็นเพราะปัจจัยหนึ่งซึ่งมีกำลัง อย่างคำว่า อุป แปลว่า มั่น ก็ได้ หรือว่าใกล้ก็ได้ ใช่ไหมคะ
อ.สมพร ใกล้ก็ได้ แล้วหมายความว่า มั่น โดยอรรถแล้ว หมายถึงว่ามีกำลังครับ คือมั่นคง ถ้าใกล้ก็หมายความว่าใกล้ชิด ใกล้ชิดที่สุดเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็อาจจะเพิ่มคำภาษาบาลีนิดๆ หน่อยๆ อย่างภาษาไทยเราเคยใช้คำว่า “อุปนิสัย” คนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร แสดงว่าเขาสะสมมาจนมีกำลังทำให้ปรากฏการสะสมนั้นๆ อย่างคนตระหนี่ ก็เป็นคนที่สะสมความตระหนี่ เป็นการสะสมที่มีกำลังทำให้เขาไม่สามารถที่จะบริจาคได้ หรือคนที่โกรธบ่อยๆ ก็สะสมมาจนกระทั่งมาเป็นคนที่เจ้าโทสะ เพราะฉะนั้นอาการของการสะสมที่มีกำลังก็ปรากฏทำให้เขานอนไม่หลับ เป็นโลภะ เป็นโทสะ เพราะสะสมมาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ในขณะนั้นเราก็จะรู้ว่านอนไม่หลับเพราะอะไร เพราะวิบาก หรือว่าเพราะอุปนิสสยปัจจัย คือการสะสมกำลังของเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่ทำให้ต้องคิดเรื่องนั้น ที่ทำให้นอนไม่หลับ ก็แสดงให้เห็นว่า ชีวิตทุกขณะจิตซึ่งทุกคนมองไม่เห็นเลย สภาพที่ทุกคนมองเห็นก็คือว่า เห็นโดยสมมติบัญญัติว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของ แต่ลึกลงไป หรือว่า เบื้องหลังของสิ่งที่เราเห็น ก็คือปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้นที่เรามาบัญญัติว่านอนไม่หลับ เพราะจะเป็นเพราะเหตุว่าภวังคจิตไม่ได้เกิดยาวนาน แต่ว่ามีวิบากที่จะต้องกระทบแข็ง กระทบเสียง ที่ทำให้คนนั้นนอนไม่หลับ หรือมิฉะนั้นก็มีปัจจัยอื่นที่มีกำลังที่สะสมมาที่จะทำให้ตรึกไปนึกคิดไปในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรามองเห็นว่าถาวรมั่นคงเป็นคน เป็นสัตว์ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพเพียงจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับ แล้วก็จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมายหลายประเภท อย่างวิบากจิตต้องอาศัยกรรมเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากนั้นๆ จะเกิดกับบุคคลนั้นไม่ได้ แต่ว่าอัธยาศัย คือ การคิดมาก หรือว่าการเป็นผู้ที่มีโทสะ ความพยาบาท หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นการสะสม ซึ่งเป็นอุปนิสัย เพียงแต่กล่าวถึงให้เห็นว่า จิตจะเกิดก็ต้องมีปัจจัย ไม่ว่าจะหลับ จะตื่น ทุกขณะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร
เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจเรื่องของจิต ไม่ต้องอาศัยอื่นเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สามารถที่จะกล่าวถึงจิตโดยนัยต่างๆ ตามพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด เพราะเหตุว่าจะกล่าวถึงโดยนัยของปัจจัยก็ได้ หรือว่าโดยประเภทของจิต แต่ทั้งหมดเพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า ภาษาบาลีนั้นเป็นเพียงคำที่ใช้แทนสภาพธรรมที่จะให้เราเข้าใจธรรมให้ถูกต้องว่า มีจิตหลายประเภท แล้วจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเป็นภวังคจิต เป็นปฏิสนธิ เป็นจุติ