ทวารมี ๖ เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑
ผู้ฟัง ขณะนี้ใครจะมีอาวัชชนะจิตนี้ได้ไหมครับ แบบคราวที่แล้วได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นก็ต้องมีก่อน
ผู้ฟัง หรือครับ ใครบ้างที่จะมีอาวัชชนะจิตเกิดขึ้น อะไรอย่างนี้ พอจะนำมาพิสูจน์ ใช้ภวังคจิตได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าทุกคนจะเข้าใจปัญจทวาราวัชชนจิตแล้ว ก็ต้องทราบว่า ขณะที่เห็นต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน หรือขณะที่กำลังได้ยินก็ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง คือก่อนได้ยิน ก่อนเห็น จะต้องมีอาวัชชนจิตก่อน
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ทางทวารทั้ง ๕ จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง อันนี้เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเลยใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เฉพาะทางทวารทั้ง ๕
ผู้ฟัง เว้นไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้คะ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตอย่าเพิ่งเกิด นะ ให้จักขุวิญญาณจิตเกิดก่อน ไม่ได้
อาวัชชนจิตมี ๒ ดวง มี ๒ ชื่อ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง ๑ ประเภท แล้วก็มโนทวาราวัชชนจิตอีก ๑ เพราะเหตุว่าทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต มี ๖ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัญจทวาร
ผู้ฟัง ส่วนทางมโน นั้นเรียก มโนทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง เจตสิกประกอบไม่เท่ากัน ทำหน้าที่อาวัชชนะ เฉพาะทางมโนทวาร แต่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เพราะเหตุว่าจิตนี้มีเจตสิกมากกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต
เช่นอย่างคำว่า “ทวาร” ก็เป็นทาง แล้วก็มีถึง ๖ ทาง ใช่ไหมคะ แต่ที่เราชินหูก็คือ ปัญจทวาร ได้แก่ ตาเป็นรูป ทวารนี้เป็นรูป ถ้าเป็น ๕ ทาง ทวารมี ๖ จริง แต่ว่าเป็นรูป ๕ ทวาร แล้วก็เป็นนาม ๑ ทวาร
ตา จักขุปสาท เป็นรูปซึ่งไม่เห็น แต่เป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา โสตทวารก็คือประสาทหู หรือโสตปสาทซึ่งเป็นรูป ถ้าเวลาที่เสียงกระทบโสตปสาท ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตรู้เสียง แล้วแต่ว่าจะมีวิถีจิตกี่ขณะที่เกิดขึ้นรู้เสียง แต่ให้ทราบว่าในบรรดาทวาร ๖ นั้น เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนาม ๑ ทวาร คือ ทวาร ได้แก่ ทาง จะไปคิดเกินกว่านี้ไม่ได้ จะว่าเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณก็ไม่ได้ เพราะทวารเป็นทาง
เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า ทางมีกี่ทาง ทางมี ๖ ทาง เพราะฉะนั้นก็แยกเป็นรูป ๕ ทาง เป็นปัญจทวารที่เป็นรูป แล้วก็เป็นนาม ๑ ทาง ก็เป็นมโนทวาร
นี่ก็ถ้าเป็นนามที่เป็นมโนทวาร ก็ต้องได้แก่ ภวังค์คุปัจเฉทะ ซึ่งเกิดก่อนวิถีจิต เพราะเราทราบแล้วว่า จิตแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถี เพราะฉะนั้นก่อนวิถีจิตจะเกิด ก็ต้องมีทางที่วิถีจิตจะเกิด ถ้าเป็นจักขุทวาร เป็นรูปกระทบกับสี แล้วก็กระทบกับภวังค์ แต่ว่าวิถีจิตที่เกิดรู้สีที่ปรากฏทางตา ที่กระทบตา
เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้อาศัยมโนทวาร แต่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร ถ้าจักขุปสาทดับ ไม่เกิด ไม่มีทางที่สีจะปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจึงเข้าใจความหมายของจักขุทวาร เป็นรูป ซึ่งเป็นทางที่ให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เป็นทาง ไม่ใช่เป็นจิตเพราะเหตุว่าใช้คำว่าจักขุทวาร เพราะฉะนั้นหมายความถึงทวารตา หรือตา จักขุปสาทเป็นทางที่จะให้จิตเกิด ทวารที่เป็นจักขุนั้นเป็นรูป
เราก็ต้องไม่เกินเลยขอบเขตความรู้ภาษาบาลีของเรา แม้นิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องตรง แต่พอเป็นจักขุวิญญาณไม่ได้ใช้คำว่าทวาร แต่ใช้คำว่าวิญญาณ เพราะฉะนั้นก็ต้องหมายความถึงจิต ซึ่งเป็นสภาพที่อาศัยจักขุเกิดขึ้นทำกิจเห็น
ก็ค่อยๆ เรียนภาษาบาลีไปทีละนิดทีละหน่อย โดยที่ก็คงจะไม่คลาดเคลื่อน ถ้าเราจะเข้าใจคำภาษาบาลีโดยที่ไม่สับสน อย่างคำว่าทวาร ก็ต้องรู้ว่า ทวารนี้คือทางแน่ๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น ๕ ทางที่เป็นรูป ก็เป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นนาม ต้องมีทางที่วิถีจิตจะเกิด และวิถีจิตนั้นต้องอาศัยภวังคุปัจเฉทะซึ่งดับไปก่อนเป็นทาง วิถีจิตแรกคือมโนทวารวัชชนะจิตจึงเกิด
เพราะฉะนั้นก็แยกเป็นมโนทวาร มโนทวาราวัชชนะ
ผู้ฟัง อันนี้หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้เป็นวิถีจิตที่ ๑ ใช่ไหมครับ ตามที่ปัญจทวาราวัชชนะ
ท่านอาจารย์ ถ้าทางมโนทวารแล้วเป็นวิถีจิตแรก คือ วิถีจิตแรกจะพ้นจากอาวัชชนะไม่ได้ ถ้าเป็นปัญจทวารก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นมโนทวารก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต
ผู้ฟัง ที่ ๑ เหมือนกันใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรกหลังจากภวังคุปัจเฉทะดับ คือ มีคำซึ่งใช้กันมานาน แล้ว บางคนก็บอกว่าชาวบ้าน สติชาวบ้านบ้าง อะไรชาวบ้านบ้าง จริงๆ แล้วไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ว่า กว่าจะประจักษ์สภาพธรรมหรือกว่าจะเข้าใจได้ก็แสนจะยาก เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้คำที่ตรง ที่จะกันไม่ให้เข้าใจผิดหรือว่าใช้คำผิดๆ แล้วคนอื่นก็คิดอย่างนั้นด้วย
อย่างจิตตกภวังค์ เป็นอย่างไรคะ ตก ตกมาจากไหน จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะเวลาที่จิตดับ มีปัจจัยในจิตที่ดับไปแล้วนั้น ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าพูดอย่างนี้จะไม่เห็นอาการตก หรืออาการขึ้น หรืออาการลงเลย ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยหนึ่งซึ่งชื่อว่า อนันตรปัจจัย ซึ่งรูปไม่มี เฉพาะนามธรรมเท่านั้นที่มีอนันตรปัจจัย หรือเป็นอนันตรปัจจัย ซึ่งเมื่อจิตนั้นดับ จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น