ทาง ๖ ทาง ตอนที่ ๑


    อ.กฤษณา ในเรื่องที่เราได้สนทนากันไปแล้ว ก็มาถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตที่ ๑ ทางปัญจทวาร ลำดับต่อไปที่เราจะสนทนากัน ก็จะเป็นเรื่องของวิถีจิตที่ ๒ ทางปัญจทวาร ซึ่งเมื่อวิถีจิตที่ ๑ คือ ปัญทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้วิถีจิตที่ ๒ เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อทันที คือ ทวิปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อมาถึงตรงนี้ ดิฉันก็ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของ “ทวิปัญจวิญญาณจิต” ซึ่งจะขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สมพร ช่วยกรุณาให้ความหมายของทวิปัญจวิญญาณ ว่าทำไมถึงมีทั้งคำว่า ทวิ ทั้ง ปัญจ ทั้ง วิญญาณ ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สมพร

    อ.สมพร ทวิปัญจวิญญาณ ความหมายก็ตรงตัว ภาษาบาลี ทวิ แปลว่า ๒ ปัญจ แปลว่า ๕ วิญญาณ ๕ ทั้ง ๒ คือ ๒ พวก พวก ๑ เกิดจากกุศล เรียกว่า กุศลวิบาก อีกพวก ๑ เกิดจากอกุศล เรียกว่า อกุศลวิบาก คำว่า ๕ ก็เป็น สอง ห้า ก็เป็นสิบ ท่านเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ เป็นจิต ๑๐ ดวง

    อ.กฤษณา ขอบพระคุณค่ะ ก็ตกลงว่า ทวิ หมายถึง ๒ ปัญจ ๕ วิญญาณ กับจิตก็ความหมายเดียวกัน คือ ทั้ง ๒ พวก พวกละ ๕ ก็เลยรวมเป็น ๑๐ ทีนี้เมื่อกี้นี้ ท่านอาจารย์สมพรได้บอกว่ามีพวกกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก อยากจะขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์กรุณาอธิบายว่า แสดงว่าจิตพวกนี้จะต้องมีเป็นคู่ๆ ใช่ไหมคะ แล้วที่ว่าเป็นวิบาก ก็ต้องแสดงว่าเป็นผลของกรรม ขออาจารย์กรุณาช่วยอธิบายจุดนี้ด้วยคะ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเรื่องของการศึกษาธรรม เพื่อประโยชน์จริงๆ เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วบางท่านอาจจะรู้สึกว่า ภาษาบาลีมาก เดี๋ยวก็มี วิถีจิต ภวังคจิต จักขุวิญญาณ ทวิวิญญาณจิต บางคนก็รู้สึกว่า แย่แล้วค่ะ ต้องจำกันมากมายเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราทราบจุดประสงค์ว่า ที่เราฟังเรื่องของจิตก็เพื่อที่จะให้เข้าใจจิตซึ่งเป็นสภาพที่แม้มีจริง แต่ก็รู้ยาก แล้วบางท่านก็อาจจะคิดว่า วนไปเวียนมาอย่างนี้เมื่อไรจะจบ หรือว่าเมื่อไรจะถึงไหน แต่ความจริงทุกวันก็คือเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราจะจบชื่อ แต่เราจะพยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อเข้าใจแล้ว เรื่องภาษาบาลีเป็นเรื่องที่จะติดตามมาภายหลัง

    เพราะฉะนั้นเราจะไม่พยายามตั้งหลักเป็นภาษาบาลีแล้วก็อธิบาย แต่พยายามจะให้เข้าใจสภาพธรรม แล้วเมื่อเข้าใจสภาพธรรมแล้วก็ค่อยๆ จำภาษาบาลีไปเอง

    สำหรับเรื่องของทวิปัญจวิญญาณ ถ้าพูดโดยชื่อ จะเร็วมากทีเดียว คือว่ามีจักขุวิญญาณจิต เห็น เป็นกุศลวิบาก ๑ เป็นอกุศลวิบาก ๑ แล้วก็เท้าความไปว่ามาจากกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณที่เห็นก็เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าพูดอย่างนี้จะจบเร็วโดยชื่อ แต่ว่าจะไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้มีประโยชน์ หรือมีความสำคัญอย่างไรที่จะได้ฟังเรื่องของจิต หรือแม้แต่เรื่องของวิถีจิต

    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะยังคงไม่ผ่านไป คงจะได้ สำหรับดิฉันเองเป็นคนที่มักจะย้อนหลัง เพื่อที่จะให้เข้าใจสิ่งที่กำลังจะได้ยินได้ฟังต่อไป โดยที่ว่าได้เห็นประโยชน์ของการฟังด้วย อย่างเรื่องของทวาร คือ ทาง อยากจะให้ทราบว่า แม้ว่ามีจิต แต่ถ้าไม่มีทางที่จิตจะเกิดขึ้นทำกิจการงาน ใครก็ไม่รู้ว่ามีจิต

    นี่เป็นเหตุที่เราจะฟังเรื่องของจิตบ่อยๆ แล้วก็ให้ทราบเลยว่า ถ้าไม่มีทางที่จิตจะทำให้กิจการงานรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่ามีจิตก็ไม่มีใครรู้ว่ามีจิต เช่นกำลังนอนหลับสนิท ทุกคนมีจิตเกิดดับ แต่ว่าไม่รู้เลย ไม่รู้เลยว่า มีจิต ไม่รู้เลยว่า จิตกำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นความสำคัญที่จะทำให้รู้ลักษณะของจิต เช่นในขณะนี้ ต้องอาศัยทาง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “ทวาระ” เพราะท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านก็ชอบคำแปลว่า ของทวาระที่เป็นประตู แล้วแต่ว่าที่ใครจะคิดถึงประตู เป็นรูปร่างสูงยาวกว่าหน้าต่างหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่าเป็นทาง แล้วทางก็เป็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็น ไม่เหมือนประตูที่มองเห็น แม้ว่าเป็นรูป ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะต้องมีรูป ซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อย่างจักขุปสาท ที่เราใช้คำว่าตา โสตปสาท ที่เราใช้คำว่าหู พวกนี้เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้จักจิตได้ มี ๖ ทางคือ ๑. ทางตา ๒. ทางหู ๓. ทางจมูก ๔. ทางลิ้น ๕. ทางกาย ๖. ทางใจ เพื่อจะพิสูจน์ธรรมในขณะนี้ซึ่งกำลังมีจริงๆ ตาก็มี เห็นก็มี หูก็มี ได้ยินก็มี

    เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะพักภาษาบาลีไว้ก่อน หรือว่าท่านที่ทราบแล้วก็ไม่เป็นไร ก็ประกอบกันไป ให้ทราบความสำคัญว่าทาง ๖ ทาง เป็นทางที่จะทำให้รู้ว่ามีจิต


    หมายเลข 8862
    22 ส.ค. 2567