ทาง ๖ ทาง ตอนที่ ๒


    เราศึกษาเรื่องจิตเพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเราจะย้อนไปที่ความเป็นอนัตตาได้ทุกขณะจิต แม้แต่ตั้งแต่ปฏิสนธิ ซึ่งเป็นขณะแรกของจิต ที่ศึกษากันมา ตั้งแต่เกิดมาแล้ว แล้วมีชีวิตมาจนถึงเดี๋ยวนี้ มีภวังคจิตเกิดสืบต่อ แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีจิตเกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง นั่นคือชีวิตในวันหนึ่งๆ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า แม้แต่ขณะปฏิสนธิก็เลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายชาติก่อนไม่ได้ว่า จะตายเมื่อไร เพราะเหตุว่า เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดทันที

    เพราะฉะนั้นเราเลือกตายชาติก่อนไม่ได้ เราก็เลือกเกิดชาตินี้ไม่ได้ เลือกที่จะให้จิตเป็นภวังค์เรื่อยๆ ไป ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้

    นี่แสดงความเป็นอนัตตา พระธรรมทั้งหมดเพื่อที่จะให้ประจักษ์ความเป็นอนัตตา เพื่อที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า แม้แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดต่อ ซึ่งทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต ยังไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เลย เราก็เลือกไม่ได้อีกว่า จะให้เป็นภวังค์มากน้อยเท่าไร เพราะว่าบางคนก็นอนหลับนาน บางคนก็หลับๆ ตื่นๆ เวลาตื่นก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกเรื่องราวต่างๆ บ้าง

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปถึงเรื่องของทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ถ้าเราจะทำความเข้าใจในเรื่องของทวาร ๖ ซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ว่า แต่ละทางนั้นเป็นอย่างไร แล้วส่วนใหญ่จะไปตั้งต้นที่ทวาร ๕ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ตั้งต้นที่มโนทวาร เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของทวาร ๖ ทาง อย่างจักขุปสาทซึ่งเป็นทางที่จิตจะเห็น ทุกคนไม่มีความสงสัยเลยว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูป เห็นมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นจักขุปสาทรูป ต้องเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ สำหรับทวาร ๕ ไม่มีข้อสงสัย แต่อีกทวารหนึ่ง คือ มโนทวาร มี หมายความว่า แม้ว่าจะไม่มีสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กายเลย ใจนั่นเองเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ซึ่งเป็นภวังคจิต ไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าปฏิสนธิจิตขณะแรก แล้วก็ขณะหลังๆ ต่อไป เป็นภวังค์ แต่ก่อนที่จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะกระทบ ใจนี่ไหวเพื่อที่จะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก่อนทวารอื่นทั้งหมด ต้องเป็นมโนทวาร ถ้าเข้าใจ “ใจ” ซึ่งเป็นมโนทวารแล้ว ทวารอื่นไม่ยาก

    เพราะฉะนั้นทางใจยากกว่า ให้ทราบว่า อยู่ๆ เราก็เกิดคิดนึกอะไรขึ้นมา แสดงว่าขณะนั้นเมื่อเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่คิด แต่เวลาที่จะคิด เพราะมีอารมณ์ที่สะสมมาทำให้จิตไหวที่จะคิดถึงอารมณ์นั้นที่กระทบทางใจ แล้วก็ภวังคจลนะ เช่นเดียวกันกับทางปัญจทวาร แต่ว่าทางปัญจทวาร เนื่องจากมีอารมณ์มากระทบกับปสาทจริงๆ

    เพราะฉะนั้นจึงมีภวังค์ซึ่งแสดงว่า อารมณ์เกิด และกระทบที่ภวังค์ใด เรียกภวังค์นั้นว่า ”อดีตภวังค์” สำหรับทางทวาร ๕ ซึ่งแสดงให้เห็นความต่างกันของทางมโนทวารกับทางปัญจทวารว่า สำหรับทางมโนทวารนั้นไม่มีอดีตภวังค์ เพราะเหตุว่าไม่ได้มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากระทบเลย เพียงแต่จิตใจหวั่นไหวด้วยอารมณ์ที่จะคิดนึกเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เรานอนหลับ ฝัน นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า อารมณ์ที่สะสมมาในวันหนึ่งๆ หรืออาจจะในหลายๆ วัน ในทั้งชาติ ทำให้จิตใจของเราคิดถึงเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้นภวังค์ไหว เป็นภวังคจลนะ ดับไป ภวังคุปัจเฉทะ เป็นกระแสภวังค์สุดท้ายดับไป แล้วก่อนที่จิตจะรู้อารมณ์ทางมโนทวาร คือ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ต้องมีวิถีจิตขณะแรกทางใจ เป็นมโนทวาราวัชชนะ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของอาวาวัชชนะ ๖ เราจะกล่าวถึงก่อนที่จะไปถึงทางทวิปัญจวิญญาณ

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกอย่างไรคะ พอจะเห็นว่าทางใจที่คิดนึก มี แม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่กระทบ เพราะฉะนั้นขณะใดที่คิด ไม่ใช่ภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นต้องมีวิถีจิตที่รำพึงหรือคิดถึงอารมณ์นั้น แล้วหลังจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด

    ให้ทราบว่าเวลาที่จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่ ยังไม่รู้อารมณ์อื่นเลย แล้วถ้าเป็นทางใจ เนื่องจากไม่มีอารมณ์มากระทบ เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีอะไรกระทบจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท แต่ห้ามใจไม่ให้คิดไม่ได้

    นี่แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องมี ๖ ทาง ไม่ใช่มีแต่เพียงการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เท่านั้น ยังมีทางที่ ๖ คือทางใจ คือ ความคิดนึก

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าอารมณ์จะไม่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กายก็จริง จิตกำลังเป็นภวังค์อยู่แท้ๆ เกิดนึกคิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เวลาที่จะเกิดคิดนึกขึ้นมา ที่จะคิดนึกเรื่องอะไรต้องอาศัยทาง เพราะเหตุว่าตอนเป็นภวังค์ก็ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น นอนหลับสนิท อารมณ์ใดๆ ก็ไม่ปรากฏ แม้แต่คิดนึก แม้แต่ฝัน ก็ไม่มี


    หมายเลข 8863
    22 ส.ค. 2567