อารมณ์ของภวังค์คืออะไร


    ผู้ฟัง อารมณ์ของภวังคจิตเป็นอะไร และขึ้นอยู่กับอะไร หมายความว่าภวังคจิตธรรมดาๆ ที่ทุกวันนี้มี ที่เกิดขึ้นคืออะไร

    อ.สมพร ประเด็นนี้ อารมณ์ของภวังคจิตคืออะไร เราที่จะมาเกิดในโลกมนุษย์เราได้อารมณ์อะไร เราเห็นภาพครรภ์มารดา หรือเห็นภิกษุ สามเณร ซึ่งอยู่ในโลกนี้ คือเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากที่เป็นกุศล เป็นผลของกุศล อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ใกล้ตาย ไม่ใช่อารมณ์จุติ เมื่อใกล้ตายได้อารมณ์อันนี้มา เวลาปฏิสนธิก็เอาอารมณ์นี้ จิตก็มีอารมณ์นี้ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อ ภวังคจิตก็มีอารมณ์อย่างนี้ ถ้าเห็นครรภ์มารดา ก็เป็นการเห็นครรภ์มารดา ภวังคจิตทุกดวงเกิดแล้วนับไม่ถ้วน ก็มีอารมณ์เช่นเดียวกับปฏิสนธิ เมื่อเวลาที่เราจะจุติ เราก็จุติด้วยอำนาจอารมณ์อันนี้ แต่ว่าเป็นปฏิสนธิต่างกัน ต้องต่างกันไม่ใช่อารมณ์เดียวกัน ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ นี้มีอารมณ์เดียวกันในชาตินี้ เฉพาะชาตินี้ ไม่ใช่จุติในชาติก่อน แล้วมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิในชาตินี้ ไม่ใช่ คนละอย่าง ถ้าในชาตินี้แล้ว ปฏิสนธิก็ดี ภวังค์ก็ดี จุติก็ดี มีอารมณ์อย่างเดียวกัน เฉพาะในชาตินี้

    เมื่อกี้คุณหมอว่าสลับ คุณหมอบอกว่าจุติก่อน มันไม่ถูก ต้องปฏิสนธิก่อน ปฏิสนธิมีอารมณ์ในอดีตที่เวลาใกล้ตาย ภวังคจิตก็มีเช่นเดียวกับปฏิสนธิ เมื่อเวลาที่เราจะจุติ จะเคลื่อน จิตที่มีอารมณ์เดียวกับภวังค์นี้ก็จะดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้น ดวงใหม่เพราะมีปัจจัย ไม่ใช่จิตดวงที่ดับไปแล้วเกิดขึ้นใหม่ ไม่ใช่ เพราะว่าจิตดวงที่ดับไปแล้วเรียกว่าจุติจิตนี้หมดกรรมแล้ว หมดผลของกรรมแล้ว กรรมให้ผลแค่นั้น ก็ดับไป

    นี่พูดเฉพาะที่หมดกรรม แล้วจิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน เป็นคนละดวง เมื่อจิตดวงใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าปฏิสนธิ นั้นก็มีอารมณ์ใกล้ตาย ใกล้ตายเรามีอารมณ์อะไร ก็ทำนองนี้แหละครับ ต้องเริ่มจากปฏิสนธิมีอารมณ์ใกล้ตายในชาติก่อน มีอารมณ์ใกล้ตายในชาติก่อน แล้วภวังคจิตก็มีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิ แล้วเวลาจุตินั้น ก็มีอารมณ์เหมือนปฏิสนธิ หรือภวังค์

    ผู้ฟัง สมมติว่าชาติที่แล้วมีอารมณ์อะไร จุติจิตของชาตินี้ก็ต้องมีอารมณ์เหมือนชาติที่แล้ว ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ค่อยๆ ไปทีละน้อย จิตที่เกิดมาโดยที่ไม่มีอารมณ์ไม่มีเลย แล้วเวลาที่รู้อารมณ์ สืบต่อกันด้วย เช่น ทางตาเห็นแล้ว ทางใจยังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ แล้วเมื่อทางใจรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเห็นแล้ว หลังจากนั้นภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีวาระต่อไปยังคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า วาระหนึ่งๆ ของการที่จิตรู้อารมณ์ ทางสั้นๆ ในแต่ละทวาร อารมณ์จะสืบต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าหยุด อย่างเห็นแล้ว ไม่ใช่ว่าผ่านไปเลย ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด รับต่อ แล้วยังวาระต่อๆ ไปอีกหลายวาระ ก็รู้เรื่องราว

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า การรู้อารมณ์รู้สืบต่อๆ ๆ ๆ กัน เพราะฉะนั้นถ้าย้อนไปถึงก่อนตายของชาติก่อน ไม่ต่างกับขณะนี้ สมมติว่าขณะนี้เป็นชาติก่อน ได้ไหมคะ ชาติก่อนทุกคนก็ต้องนั่ง แล้วก็เห็น แล้วก็ได้ยิน ไม่ต่างกันเลยกับชาตินี้ แต่เพื่อที่จะให้เข้าใจอารมณ์ของปฏิสนธิจิตของชาตินี้ ก็สมมติว่าเวลานี้เป็นชาติก่อน เวลานี้ทุกคนกำลังอยู่ชาติก่อน แล้วก็เห็น แล้วก็จิตก็รับสืบต่อกันอย่างนี้ ถ้าเกิดมีใครสักคนหนึ่งจุติจิตเกิด ก่อนจุติจะเกิด ก็หมายความว่าเขาก็ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องได้ยินเสียง แล้วก็ต้องคิดนึก ขณะนี้ที่ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ บางคนอาจจะนึกถึงกรรม ไม่ออกไปจากใจได้เลย เกิดนึกขึ้นมา เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้ทำแล้วก็ยังสืบต่ออยู่ พร้อมที่จะให้มโนทวารวิถีจิต เกิดขึ้นนึกคิดถึงเรื่องนั้นได้

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะกำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ ก็อาจจะนึกถึงกรรมแล้วก็ตาย จุติจิต ปฏิสนธิจิตรับอารมณ์สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เหมือนกับขณะนี้ซึ่งทุกคนเห็น แล้วก็รับอารมณ์สืบต่อ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ได้ยินแล้วก็รับอารมณ์สืบต่อ

    เพราะฉะนั้นชาติก่อนกับชาตินี้ ไม่ได้ไกลกันเลย เพียงแต่ว่าเหมือนประตูที่ปิดสนิท เมื่อปิดแล้วเราจะไม่รู้เลยว่า ข้างในนั้นมีอะไรบ้าง คือ ย้อนกลับไปหาอดีตชาติไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่ปีนี้เอง แล้วแต่ว่าใครจะอายุเท่าไร ก็ผ่านมาไม่นาน แต่ก็ไม่รู้ว่าชาติก่อน ก่อนจะตาย ตายโดยวิธีใด จะป่วยไข้ หรือว่าอุบัติเหตุ ในน้ำ ในอากาศ บนบก หรืออะไรแล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าเพราะจิตเกิดดับรับอารมณ์สืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจิตของชาติก่อนดับ จุติจิตของชาติก่อนมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิของชาติก่อน ใครเกิด คนนั้นก็ดำรงอยู่ แล้วคนนั้นก็ตาย เพราะฉะนั้นจิตประเภทใดทำปฏิสนธิกิจ จิตนั้นประเภทเดียวกันนั้นทำภวังคกิจ สืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แล้วก็จนถึงขณะสุดท้าย ก็คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น จะยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตประเภทใดทำปฏิสนธิกิจ จิตนั้นประเภทเดียวกันนั้นทำภวังคกิจ สืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แล้วก็จนถึงขณะสุดท้ายก็คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น จะยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้ เพราะฉะนั้นในชาติหนึ่งชาติหนึ่งๆ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตต้องมีอารมณ์เดียวกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย


    หมายเลข 8866
    22 ส.ค. 2567