เป็นไปตามจิตนิยาม
ผู้ฟัง อดีตภวังค์จะมีอารมณ์หนึ่งใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ อันนั้นสำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส กาย กระทบปสาท แสดงอายุของอารมณ์
ผู้ฟัง คือพูดกันคนละตอน
ท่านอาจารย์ พูดถึงอดีตภวังค์ก็จะนับไปถึงตทาลัมพนะว่า จิตเกิดขณะไหนแล้วก็ดับ มีอายุ ๑๗ ขณะ แสดงอายุของอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปสนใจ
นี่เรากำลังจะพูดถึงอีกทวารหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก สุขทุกข์ก็อยู่ที่ทวารนี้ คือ มโนทวารวิถีจิต จิตที่คิด เพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส จิตเป็นสภาพที่คิด ใครจะไปยับยั้งจิตบอกว่า อย่าคิด ไม่ได้
เพราะฉะนั้นจิตที่คิด คือ อาศัยการสะสม จากการเห็น การได้ยิน เวลาที่จิตคิดจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะเป็นวิถีจิต ภวังคจิตไหวเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์เก่า ถ้าเป็นภวังค์เฉยๆ จะเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะว่ากำลังทำกิจภวังค์อยู่ แต่ตอนที่เริ่มจะคิด มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดต่อจากภวังค์ทันทีไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ เป็นกระแสอยู่
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อที่จะคิดนึก ภวังค์นั้นจะไหว แล้วก็ภวังค์ขณะต่อไปก็เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย นี่คือ จิตนิยาม หมายความว่า ไม่มีใครเลยที่จะรู้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ว่า ต่อจากภวังค์แล้วก็จะเป็นมโนทวาราวัชชนะจิต หรือวิถีจิตทันทีไม่ได้ จะต้องมีภวังค์เกิดก่อนวิถีจิต ๒ ขณะทางมโนทวาร แต่ถ้าเป็นทางปัญจทวาร เราจะมีอดีตภวังค์ เพื่อแสดงให้รู้ว่า อารมณ์เกิดแล้วกระทบกับทวารทันที เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นจะไปสิ้นสุดที่ตทาลัมพนะ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สำหรับทางใจ ไม่มีอารมณ์ใดๆ มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่ามีการคิดนึกเกิดขึ้น แต่ขณะที่กำลังเป็นภวังค์ๆ อยู่ จะให้คิดทันทีไม่ได้ จะให้จิตเปลี่ยนอารมณ์ทันทีไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเป็นไปอย่างนั้น จิตนิยาม คือ ตามความเป็นจริงแล้ว ภวังค์ไหว แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะเกิด หลังจากนั้นวิถีจิตแรกจึงจะเกิดต่อ