ภวังคจิตมีเมื่อไหร่
ผู้ฟัง อาจารย์มีอะไรจะเพิ่มเติมไหมคะ
ท่านอาจารย์ คือเพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ไม่ใช่ตามตัวหนังสือ หรือตามกิจการงาน แต่ว่าในชีวิตประจำวันซึ่งถ้ามีคนถามว่า ภวังคจิตมีไหม ได้ยินคำว่าภวังคจิต ท่านผู้ฟังก็คงจะศึกษามาบอกว่ามี แต่ว่าพูดตาม แต่ว่าขณะนี้ให้ทราบว่า มี ถ้าตอบว่า มีก็คือมี เหมือนกับเห็นมี ได้ยินมี
เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็มี ตอนไหนที่เป็นภวังคจิต คือ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ถ้าไม่มีภวังคจิตคั่น เห็นก็ต้องเห็นตลอดไป ได้ยินจะเกิดไม่ได้เพราะว่าจะต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน จิตที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ รู้อารมณ์ทางตา แต่ทีนี้เมื่อมีได้ยินซึ่งเป็นการรู้อารมณ์ทางหู ระหว่างเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ช่วงนั้นมีภวังคจิต
เพราะฉะนั้นถ้าตอบว่า ภวังคจิตมีไหม มี หลังจากปฏิสนธิก็มีภวังคจิต แล้วก็เวลาที่มีการเห็น เมื่อเห็นดับ วิถีจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับหมดแล้ว ก่อนที่จะได้ยินก็ต้องเป็นภวังคจิต แล้วเวลาที่วิถีจิตได้ยินเกิดขึ้นหลายขณะ รู้เสียงที่ปรากฏดับไปแล้ว ก็ต้องมีภวังคจิต
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า แม้ในขณะนี้เองก็มีภวังคจิต ถ้าจะทราบว่ามี ก็ต้องรู้ว่ามีเมื่อไร คือ มีหลังปฏิสนธิ แล้วก็ทุกขณะที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก เพื่อที่จะได้ไม่สงสัยเรื่องของภวังคจิต เท่านี้ก่อนไม่ทราบว่ามีใครสงสัยหรือเปล่าคะ ภวังคจิตมีแน่นอน
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่างปัญจทวาร และมโนทวาร ซึ่งก็มีภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะนั้น ขณะนั้นมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว ใช่ไหมคะ แต่ว่าภวังคจิตช่วงนั้น ยังคงมีอารมณ์เหมือนกับอารมณ์ใกล้จุติจิตของชาติที่แล้วหรือเปล่า หรือว่าเป็นอารมณ์ใหม่ซึ่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส
ท่านอาจารย์ ค่ะ อันนี้ต้องทราบว่า จิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์ซึ่งจิตรู้ เพราะฉะนั้นจิตขณะหนึ่งๆ ตายตัวว่า จิตขณะนั้นมีอารมณ์อะไร เปลี่ยนไม่ได้
เพราะฉะนั้นที่จะบอกว่ามีอารมณ์แล้วไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นภวังคจิต ภวังคจิตจะเปลี่ยนไปรู้อารมณ์อื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอดีตภวังค์ ก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ เป็นภวังคจลนะก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ เป็นภวังคุปัจเฉทะก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์
เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่ามีอารมณ์ก่อนเกิดแล้วไม่ได้ เพราะเหตุว่าอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้นจิตขณะหนึ่งจะมีอารมณ์อะไร ภวังคจิตเปลี่ยนไปรู้อารมณ์อื่น หรือมีอารมณ์อื่นไม่ได้ หรืออารมณ์อื่นจะมีในขณะนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตกำลังเป็นภวังค์
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว ภวังคจิตจะมีอารมณ์เดียวตลอดภพชาตินั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะพูดว่ามีอารมณ์ก่อน มีอารมณ์แล้ว ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเสียงจะกระทบกับโสตปสาท ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ภวังค์ไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้เสียง จะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ ขณะนั้นเสียงเพียงกระทบกับโสตปสาท แต่ตราบใดที่เสียงนั้นยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต เสียงนั้นยังไม่ใช่สัททารมณ์ เป็นแต่เพียงเสียงที่กระทบ แต่ตัวจิตที่เป็นภวังค์ ก็ยังมีอารมณ์ของภวังค์อยู่ จะกล่าวว่ามีอารมณ์ก่อน หรืออารมณ์เกิดแล้วไม่ได้ เพราะว่าถ้าใช้คำว่าอารมณ์ ต้องหมายความว่าเป็นอารมณ์ของจิต ถ้ายังไม่เป็นอารมณ์ของจิตจะบอกว่า มีอารมณ์ไม่ได้ เพียงแต่เสียงเกิดขึ้นกระทบโสตปสาท แต่ยังไม่เป็นอารมณ์ของจิตที่เป็นภวังค์ เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นภวังค์จะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า คือถ้าเสียงเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป โสตปสาทรูป ขณะนั้นถ้ายังไม่มีจิตที่เกิดขึ้นรับเสียงอันนั้น แสดงว่าเสียงอันนั้นจะเป็นอารมณ์ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เพราะคำว่าอารมณ์ ต้องหมายความว่า เป็นอารมณ์ของจิตขณะใด อย่างสีสันวัณณะที่เกิด ถ้าขณะนั้นจิตไม่ได้รู้สี สีนั้นเป็นแต่เพียงวัณณะ แต่ไม่ใช่รูปารมณ์ หรือเสียงที่กระทบโสตปสาท กระทบภวังค์ เสียงนั้นก็ยังไม่ใช่สัททารมณ์เป็นแต่เพียงสัททะ ต่อเมื่อไดจิตเกิดขึ้นมีเสียงเป็นอารมณ์ เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์
ผู้ฟัง ถ้าเสียงกระทบกับปสาทรูป แต่ว่ายังไม่มีจิตเกิดขึ้นมารับเสียงนั้น ก็แสดงว่าเสียงนั้นยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นจะมีวาระที่เรียกว่า “โมฆะวาระ” คือ เสียงกระทบภวังค์ แล้วก็ภวังค์ไหวอยู่เรื่อยๆ แล้วเสียงก็ดับ เพราะฉะนั้นเสียงนั้นจะเป็นสัทธารมณ์ไม่ได้ เป็นแต่เพียงเสียงที่กระทบภวังคจิตแล้ว ภวังคจิตก็มีอารมณ์ของภวังค์ จิตที่ไหว ไหวเพราะวิถีจิตจะเกิด เพราะเหตุว่าธรรมดาแล้ว ภวังค์ คือ จิตที่ดำรงภพชาติ แต่ว่าธรรมดาของจิตนั้นจะเป็นภวังค์อยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดบนสวรรค์ ในมนุษย์ พรหมโลก หรือที่ไหนก็ตาม เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่คิดนึก
เพราะฉะนั้นไม่มีทางเลยที่จะเป็นภวังค์ไปโดยตลอด เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังเป็นภวังค์นั้น ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ว่าลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์
เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้อารมณ์ทางใจ ที่เรากำลังจะเน้นในวันนี้ ก็คือ มโนทวารวิถีจิต เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะแท้ๆ ของจิต ถึงแม้ว่าจะไม่มีสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย กระทบ แต่ว่าเวลาที่วิถีจิตจะเกิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่จะต้องคิด ที่จะห้ามจิตไม่ให้คิด แล้วให้จิตเป็นแต่ภวังค์ เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นก่อนที่จิตจะคิด ซึ่งการคิดหมายความว่า มโนทวารวิถีจิต คือ ภวังค์ไหวแล้วก็ดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะ เป็นภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นทวารของจิตคิด เพราะเหตุว่าถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิดแล้วดับไป จิตก็คิดไม่ได้ ใช่ไหมคะ แสดงให้เห็นว่าการที่เราคิดวันหนึ่งๆ อยู่ดีๆ เป็นภวังค์ แล้วก็จะเกิดคิดขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ ก่อนที่การคิดนึกจะเกิดขึ้น ภวังค์ไหวเพราะจิตจะคิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิต
เพราะฉะนั้นก่อนที่จิตจะคิดก็ต้องภวังค์ไหว แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้ายดับ แล้วต่อจากนั้นภวังค์จะเกิดไมได้ เพราะจิตคิดโดยมโนทวารวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตขณะแรกทางมโนทวาร แล้วขณะนั้นยังไม่เป็นกุศล และอกุศลเลยเพียงแต่ว่าเป็นการคิดถึงเรื่อง แล้วเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ต่อจากนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกกุศลจิต สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์
นี่คือการที่จะแสดงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนคิดมาก ขณะนี้กำลังคิด ทางมโนทวารตลอดเลย ให้คิดว่า ทางปัญจทวาร คือ ทางตา สลับนิดเดียว หรือว่าทางหู คือเสียง ก็สลับนิดเดียวจริงๆ ให้ทราบว่า ทั้งลืมตา ทุกคนก็กำลังคิดในขณะนี้ทางมโนทวาร ทั้งๆ ที่กำลังได้ยินเสียง ทุกคนก็กำลังคิด เพราะฉะนั้นเสียงนิดเดียว แต่ความคิดของคนจะไม่หยุดเลย
เพราะฉะนั้นความคิดจะมีตลอดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลย หรือไม่ได้ยินเลย จิตก็จะต้องคิด
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ทางใจเวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดทันที แต่ว่าเราไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ถึงจะปรากฏ แล้วเราก็หลับตา แล้วก็ลืมตา หรือหลับตาก็ตามแต่ ความคิดไม่หยุด เห็นก็คิด หลับตาก็คิด ได้ยินเสียงก็คิด เสียงดับไปแล้วก็คิด
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ คือ โลกคิด แล้วก็มีสิ่งต่างๆ กระทบปสาท กระทบไปอย่างนั้น เพราะว่าเวลาที่เห็น ยังไม่เป็นคน ไม่เป็นสัตว์ ใช่ไหมคะ เพียงแต่ปรากฏเป็นแสง แต่โลกของความคิด แสดงให้เห็นว่า สืบต่อสิ่งที่กำลังปรากฏมากมาย
เพราะฉะนั้นโดยลักษณะของวิถีจิตจะเห็นได้ว่า วิถีจิตทางตาก็ดี เพียงเห็น วิถีจิตทางหู เพียงได้ยิน แต่ที่เรากำลังเห็นคน แล้วก็เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน แล้วก็ถ้าเป็นเรื่องราวต่างๆ จะนึกถึงสถานที่ และเหตุการณ์ ถ้าจะพูดถึง “พนมเปญ” ใจของเราก็นึก ใช่ไหมคะ ว่าอยู่ที่ไหน รู้เรื่องรู้ราวไปหมด
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงเสียง แล้วเราก็สามารถที่จะรู้ความหมาย รวมทั้งเรื่องราวมากมายของสถานที่ที่เรากำลังพูดถึง เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เราคือโลกของความคิด โดยที่ว่าไม่มีอะไรเลย ก็ต้องคิด หรือแม้ว่ามีสิ่งกระทบตา กระทบเปล่าๆ สีปรากฏ แต่ความคิดมากมาย
นี่เพื่อที่จะให้เห็นความจริงว่า ต้องเป็นไปตามจิตนิยาม คือ ยับยั้งความคิดไม่ได้