ฟังธรรมตามกาล
อ.อรรณพ แม้รู้ว่าธรรมดี มีประโยชน์ แต่โลภะ แต่ยังมีโลภะที่อยากฟังมากๆ หรือไม่ แล้วมงคลข้อฟังธรรมตามกาลหมายความว่าอย่างไร ฟังแล้วเข้าใจหรือไม่ว่าเป็นธรรม เช่น เข้าใจความต่างกันของจิตที่เป็นผลของกรรม และจิตที่ไม่ใช่ผลของกรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริงหรือยัง
จากการสนทนาธรรมที่โรงแรมรอยัลเรสซิเดนซี คยา ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔
ท่านอาจารย์ ก็ต้องคิดถึงความสอดคล้องของธรรม จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยโลภะได้ไหม เพราะว่าขณะใดที่มีโลภะ ขณะนั้นมีอวิชชาจึงมีโลภะ เพราะฉะนั้น การละโลภะเป็นกิจของอริยสัจที่ ๒ อยากได้โลภะ หรือว่ากลัว รังเกียจ เห็นโทษของโลภะ เดี๋ยวนี้ วันนี้ด้วย ชอบแล้วจะละสิ่งที่ชอบไหม
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น โลภะดับด้วยอรหัตตมรรค เริ่มรู้ว่า โลภะเป็นธรรม ขาดตอนนี้ไม่ได้เลย ใครจะไปคิดละโลภะ โดยไม่รู้ว่า โลภะเป็นธรรม ไม่มีทางสำเร็จ เพราะยังต้องเป็นเราอยู่ตลอด แต่เมื่อไรรู้ความจริง โลภะก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง โทสะก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง จะเกิดหรือไม่เกิด ใครบังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยของธรรมใด ธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นเท่าที่ปัจจัยทำให้เกิดขึ้น
บางคนอยากฟังธรรม ก็รู้สึกว่าเหมือนหายใจเข้าหายใจออกเป็นฟังธรรม ถูกไหมอย่างนั้น ไม่เห็นโลภะเลย ใช่ไหมคะ
ฟังธรรมตามกาละ คำว่า “ตามกาละ” มีหลายเหตุผล คือ เมื่อสงสัย ก็คือกาละที่จะฟังให้เข้าใจ หรือถึงเวลาที่มีโอกาสได้สนทนาธรรม ได้เข้าใจธรรม ก็คือฟังธรรมตามกาลเหมือนกัน แต่เมื่อไม่ใช่กาล ยังอยากจะฟัง ฟังแล้วจำได้ เข้าใจหมดหรือเปล่า หรือต้องฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้คำว่า “ธรรม” คำเดียว บางคนก็คนพูดหรือคนที่สนทนาธรรม เหนื่อยเหลือเกิน หิวเหลือเกิน แต่คนฟังก็จะฟังอีก ฟังอีก ฟังอีก ตามกาลหรือเปล่า แล้วจริงๆ ก็คือฟังแล้วเข้าใจ สำคัญที่สุด เมื่อไรก็เมื่อนั้น ฟังขณะใดก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง แล้วก็รู้ประโยชน์ด้วยว่า ฟังเพื่อเข้าใจถูก แล้วจึงจะละได้ ใครคิดจะไปละมานะ จะไปละพยาบาท ไปละอิสสา ไม่มีทางสำเร็จได้เลย ถ้าไม่เข้าใจถูกว่าเป็นธรรม พอเห็นธรรม ต้องรู้ว่าต่างกันแล้ว แม้แต่การรู้ว่า เป็นกุศล หรือเป็นวิบาก เป็นกรรม หรือเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เพียงคิดเปรียบเทียบ แต่ต้องในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เช่น เห็นไม่ใช่ดี ชั่ว ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่เมตตา เพราะเกิดขึ้นตามเหตุที่ได้กระทำแล้ว ถึงกาละที่จะต้องเห็น ก็จะมีการกระทบกันของจักขุปสาทกับสิ่งที่ปรากฏ เป็นปัจจัย คือ ถึงเวลาที่จิตที่เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากจะเกิด จิตเห็นจึงขึ้น เลือกไม่ได้เลย เลือกไม่ได้ ไม่ใช่ตามการสะสมว่า เมื่อเห็นแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้น จึงสามารถเห็นความต่างของจิตที่เป็นวิบาก กับจิตที่ไม่ใช่วิบาก จากตัวจริงๆ ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงจากตัวหนังสือว่า เวลาทำกุศลกรรม และกุศลวิบากก็ให้เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี นั่นคือจากตำรา แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกัน จึงจะเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในบางแห่งจะกล่าวว่า มีกัมมสกตาญาณจนวิปัสสนาญาณที่ดับกิเลส เพราะว่าเป็นความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ หรือไม่ต้องเรียก แต่เพราะรู้ลักษณะที่ต่างกันนั่นเองว่า ธรรมอย่างนี้เป็นวิบาก เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย อุปัตติเกิดขึ้นทำให้วิบากนั้นๆ เกิดขึ้น แต่พอเกิดเห็นแล้วเป็นอย่างไร ก็รู้ความต่างอีกว่า ไม่ใช่แค่เห็น นี่เห็นแล้ว ถึงเวลาที่สิ่งที่สะสมมาจะเกิดแล้ว คือ อกุศลที่เก็บมาเยอะมากนานมาก เพียงแค่เห็น ก็ถึงเวลาเกิดแล้ว
ก็เห็นความต่างกันของแม้วิบากกับจิตที่ไม่ใช่วิบาก
เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมจริงๆ รู้ด้วยปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ตรงทุกอย่าง