จิตที่ไม่ต้องอาศัยทวาร
ผู้ฟัง การที่จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตพวกนี้รู้อารมณ์ ดิฉันก็สงสัยว่าจะต้องอาศัยทวารหรือไม่ เพราะเหตุใด เพราะว่าตัวภวังคจิตเอง คือ ภวังคุปัจเฉทะ เขายังเป็นทวารให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจได้ แต่ว่าตัวภวังคจิตเองจะมีอะไรเป็นทางให้เขาเกิดขึ้นรู้อารมณ์ อันนี้ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพร
อ.สมพร ก็ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ท่านบอกว่าเป็นทวารวิมุตติ พ้นจากทวาร ทวารในที่นี้ อย่างมโนทวาร ทวารทางตา ทางหู ทางจมูก ปรากฏชัด มโนทวาร ตามอรรถกถาท่านก็บอกว่า ภวังคุปัจเฉทะพร้อมทั้งอาวัชชนะ แต่ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วเอา ภวังคุปัจเฉทะ อันเดียว เดี๋ยวมันจะไปซ้ำกับตรงที่จักขุทวาร ท่านก็เลยเพิ่มเติมมาอีกนิดหนึ่ง เพื่อให้มันชัดเจน แยกว่าทางมโนทวารจริงๆ ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะพร้อมทั้งอาวัชชนะ แล้วท่านก็บอกว่า จิตที่รู้อารมณ์ตามทวารก็มีตั้งแต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่านอกนั้นมันเป็นทวารวิมุตติ พ้นจากทวาร จิตก็สามารถรู้อารมณ์ได้ ที่บอกว่า ภวังค์ เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้นั้นถูก แต่อยากจะทราบว่าเพราะเหตุไร ภวังค์จึงเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้
ผู้ฟัง เพราะว่าไม่ได้ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง คือภวังคจิตไม่รู้อารมณ์อะไรเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้องค่ะ ผิดแล้วค่ะ จิตต้องเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ คำนี้ตายตัว จะเปลี่ยนเป็นจิตไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ไม่มีเลย จิตที่จะไม่รู้อารมณ์นั้นไม่มี เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ลักษณะของจิต คือ รู้อารมณ์
ผู้ฟัง กิจของภวังคจิต ก็ดำรงภพชาติ
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจิตใดทั้งสิ้น โลกไหนทั้งสิ้น จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าจิตไหนทั้งหมด
ผู้ฟัง ทีนี้คำถามของท่านอาจารย์สมพรว่า ภวังคจิตเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ เพราะเหตุใด ขอเหตุผลว่า ทำไมภวังคจิตถึงเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้คุณหมอเข้าใจหรือยังคะว่า จะต้องไม่มีจิตดวงใดเลยทั้งสิ้นที่ไม่มีอารมณ์ ต้องมีอารมณ์
ผู้ฟัง ต้องมีอารมณ์
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ จิตที่ไม่มีอารมณ์ไม่มี อันนี้แน่ใจหรือยัง
ผู้ฟัง ภวังคจิตไม่ทำได้ทำหน้าที่รู้อารมณ์ในชาตินี้
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วเขาไม่ได้ถามว่าอารมณ์ชาติไหน แล้วจะบอกว่า จิตไม่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย
อ.สมพร คือผมถามว่าเพราะเหตุไร ภวังคจิตจึงเปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ ที่ตอบว่าเปลี่ยนไม่ได้ มันก็ถูกแล้ว แต่อยากทราบว่าเพราะเหตุใด
ผู้ฟัง เพราะเหตุว่าดำรงภพชาติของบุคคลคนนี้ที่เกิดมา จนกว่าจะจุติจากชาตินี้ไป
อ.สมพร ภวังคจิตเป็นจิตที่ดำรงภพชาติ เช่น เราปฏิสนธิมาด้วยโสมนัส จะต้องมีโสมนัสจนกระทั่งจุติ ถ้าหากว่าปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยปัญญา ติเหตุกะหรือทวิเหตุกะ หรืออเหตุกะ อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตดวงนี้ก็ดำรงภพชาติ คือปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ ภวังคจิตก็ดำรงติเหตุกะ ดำรงภพชาติไม่เปลี่ยนจนกระทั่งจุติ จึงเปลี่ยน ถ้าเราใช้คำว่าดำรงภพชาติ ก็รู้สึกว่าจะถูกต้อง เพราะว่าที่เปลี่ยนไม่ได้เพราะว่าปฏิสนธิมาด้วยติเหตุกะ จะต้องประกอบด้วยติเหตุกะเสมอไป จึงไม่เปลี่ยนด้วยอำนาจวิบาก วิบากที่ให้ปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีจิตประเภทที่ต้องอาศัยทวารจึงรู้อารมณ์ได้ และมีจิตที่ไม่ต้องอาศัยทวารก็รู้อารมณ์ เช่น ปฏิสนธิจิต ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย เพราะไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตรู้สิ่งกระทบสัมผัส ไม่ใช่จิตที่คิดนึก ภวังคจิตไม่ใช่จิตที่คิดนึก จิตที่คิดนึกรู้อารมณ์คือเรื่องที่คิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต
เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์ของภวังคจิตนั้น ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดทั้งสิ้น ทั้ง ๖ ทวาร
นี่แสดงให้เห็นว่ามีจิตอยู่ ๒ ประเภท คือ จิตประเภทหนึ่งรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร อีกประเภทหนึ่งรู้อารมณ์โดยต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร
ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ภวังคจิตของเราแต่ละคนมีอารมณ์อะไรเพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย อย่างทางตาเห็น เราบอกว่าเห็น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะอาศัยตาจึงรู้ว่าสีสันวัณณะกำลังปรากฏ ทางหู เสียงปรากฏ ก็แสดงว่าจิตที่รู้เสียงอาศัยทวารคือโสตปสาท จึงเป็นทางที่จะให้จิตได้ยินเสียง ให้เสียงปรากฏ แต่ว่าสำหรับภวังคจิตไม่มีอะไรปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นจิตไม่รู้อารมณ์ ถึงแม้ว่าเป็นภวังคจิต ถึงแม้ว่าไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยก็ตาม แต่จิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร
ด้วยเหตุนี้อารมณ์ของปฏิสนธิจิตจึงไม่ปรากฏ ไม่มีใครบอกได้เลยว่า อารมณ์ของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ของแต่ละคนคืออะไร แต่ว่าสามารถบอกได้ว่าเดี๋ยวนี้กำลังเห็นเพราะอาศัยตา ขณะนี้กำลังได้ยินเพราะอาศัยหู
เพราะฉะนั้นต้องทราบด้วยว่ามีจิต ๒ ประเภท อย่างไรๆ จิตก็ต้องเป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่ว่าจิตพวกหนึ่งประเภทหนึ่งนั้นรู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย แล้วอีกประเภทหนึ่งอาศัยทวาร จิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวาร ภาษาบาลีเรียกว่าอะไรคะ
อ.สมพร จิตที่อาศัยทวาร เรียกว่า ทวาริกจิต
ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่ไม่อาศัยทวารละคะ
อ.สมพร ท่านใช้คำว่าทวารวิมุตติก็ได้ วิมุติ แปลว่าพ้น วิมุตต แปลว่า พ้นแล้วจากทวาร เป็น ทวารวิมุตต
ท่านอาจารย์ ทวารวิมุตตจิต
อ.สมพร วิมุตต วิมุตตจิต ครับ วิมุตตะ ไม่ใช่ ติ นะครับ
ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้ามีคนเกิด จะมีคนพูดว่า ทวารวิมุตติจิต นี้ผิดใช่ไหมคะ
อ.สมพร ผิดครับ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นทวารวิมุตต
อ.สมพร ตะ
ท่านอาจารย์ คะ นะคะ
อ.สมพร ตะ ติไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เรียนภาษาบาลีไปในตัวให้ถูกต้องด้วยค่ะ