ที่อาศัยที่มีกำลัง
ผู้ฟัง ขออนุญาตเอาอันนี้ก่อน เพราะว่ายังไม่จบ ดิฉันขอถามต่อนิดเดียว เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์สมพรพูดบอกว่า ถ้าเผื่อเราเห็นดีเราก็พอใจ เห็นไม่ดีเราก็ไม่พอใจ อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ขณะเห็นกับขณะที่พอใจ เป็นคนละขณะ
ท่านอาจารย์ อาจารย์สมพรไม่ได้ว่าอย่างนั้น อาจารย์ว่า เห็นสิ่งที่ดีน่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม
ผู้ฟัง ถ้าดิฉันจะนึกว่าเราพอใจ
ผู้ฟัง หลังจากนั้นพอใจ
ท่านอาจารย์ คืออารมณ์ก็ต้องมี ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีอารมณ์เพียงอย่างเดียว เพราะเหตุว่าบางอารมณ์ทำให้เราพอใจ บางอารมณ์ทำให้เราไม่พอใจ อย่างกลิ่น ก็มีทั้งกลิ่นที่ดี และกลิ่นที่ไม่ดี เสียง ก็มีทั้งเสียงที่ดี และเสียงที่ไม่ดี โดยสภาพของอารมณ์มี ๒ อย่าง
ผู้ฟัง ปัญหาของดิฉันที่จะถาม ขณะเห็นกับขณะที่พอใจ มันเป็นจิตคนละดวง และคนละขณะ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
ผู้ฟัง ก็อยากจะถามเหตุผลว่า ทำไมถึงได้เป็นคนละขณะ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม แต่จิตที่กำลังเห็นนั้นเป็นวิบาก เป็นจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม และจิตที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้นเป็นวิบาก คือ เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นต้องแยกวิบากจิตกับโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต ซึ่งเป็นเหตุ หรือเป็นกุศล และอกุศล
ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นจิตคนละดวง เพราะว่าถ้าหากว่าเราเห็น เราเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นวิบาก นั่นก็คือจักขุวิญญาณ ถูกไหมคะ เป็นจักขุวิญญาณวิบากจิต ถ้าจะพูดเต็มๆ
ท่านอาจารย์ ต้องบอกกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากด้วย
ผู้ฟัง เวลานี้ไม่พอใจก่อน
ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ยังไม่ถึงความพอใจหรือไม่พอใจ กำลังอยู่เพียงแค่เห็น เพียงแค่เห็นจริงๆ หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตดับ เรากำลังมาถึงจักขุวิญญาณ ซึ่งมี ๒ ดวง เป็นกุศลวิบากจิต เห็นสิ่งที่น่าพอใจ และเป็นอกุศลวิบากจิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ปัญจทวารวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัยหมายความว่าทันทีที่ดับต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ แล้วปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นสมนันตรปัจจัย หมายความว่าเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้ นอกจากทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๐ ดวง แล้วก็ถ้าไม่มีกรรมในอดีตที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิด จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ แล้วถ้าไม่ใช่เป็นกรรมประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เช่นในอรูปพรหม ไม่มีทางเลยที่จักขุวิญญาณจะเกิด
ผู้ฟัง คือ คำถามของดิฉันอยากจะถามอาจารย์ว่า กรรมมาจากการกระทำ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งจงใจกระทำทุจริตหรือสุจริต
ผู้ฟัง มันเกิดมาจากการกระทำ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คือจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับ จะไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าสะสมสืบต่อโดยกรรมปัจจัย ซึ่งได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่สุกงอมที่จะให้ผลของกรรมใดก็เป็นปัจจัยให้เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ วิบากจิตนั้นก็เกิดซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
ผู้ฟัง ดิฉันพยายามจะคิดว่า กิเลส กรรม วิบาก อันนี้อยากจะแยกออกมาให้มันเห็น เห็นชัดว่า ขณะใดเป็นอะไร ขณะใดเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็น คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่ก็คือ ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นอกุศล แล้วบางคราวก็เป็นกุศล แต่ก็ยังคงเป็นกรรมที่จะให้ผลอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้นกว่าจะเห็นแล้วเป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต ต้องสะสมปัญญาอย่างนานมาก จากเห็นแล้วก็เป็นอกุศลโดยไม่รู้ตัว เพราะว่ามีหลายคนที่บอกว่า วันหนึ่งไม่เคยมีอกุศลเลย เห็นแล้วไม่ได้อยากได้อะไรของใครเลย
เพราะฉะนั้นเขาเองคิดว่า เขาไม่มีอกุศลเลย แต่ความจริงไม่ทราบเลย หลังจากเห็นแล้วในขณะนี้เป็นอกุศลหรือกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่มีหรือไม่เกิด
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ให้ทราบว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นอกุศลส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต แล้วก็ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ให้ทราบว่า เป็นผู้ที่มีอกุศลมากมายหนาแน่น ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ความจริง ขณะนั้นเป็นกุศล ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ทาน ศีล หรือความสงบ
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาสามารถจะเกิดแทนอกุศลทั้งหมดในวันหนึ่งปัญญาก็จะคมขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเมื่อเห็นแล้ว ไม่มีความพอใจในสิ่งที่เห็น หรือว่าไมมีโทสะ ปฏิฆะ ในสิ่งที่เห็นได้ แต่ตราบใดปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นนั้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพียงเห็นดับไป ยังไม่ทันถึงมโนทวารวิถีจิต ชวนจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ให้ทราบได้เลยว่า เป็นอกุศลแน่นอน แต่ว่าถ้าสำหรับอุปนิสสยปัจจัยแล้วเป็นนามธรรม คือ อาศัยการเสพบ่อยๆ จนคุ้น จนกระทั่งมีกำลังขึ้น อย่างคนที่โกรธง่าย โกรธบ่อยๆ ถึงแม้ว่าอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นอารมณ์ที่ดี น่าดู แต่คนนั้นก็โกรธได้ ไม่พอใจได้ เพราะเหตุว่าสะสมความโกรธจนกระทั่งสามารถจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าอารมณ์จะประณีต เป็นอารมณ์ที่ดี หรือว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ตาม แต่คนที่สะสมความเมตตา ความกรุณา ความให้อภัย ความไม่โกรธ ถึงแม้ว่าจะได้ยินได้ฟัง หรือเห็นสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ แต่ไม่โกรธ เพราะเหตุว่าสะสมมา ทำให้เป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล