ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย ๑
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับ “ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย” ผมมีความสงสัยว่า มีความหมายอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเห็น การได้ยิน หรือว่าการคิดนึกอะไรก็ตามแต่
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นข้อวามในพระสูตรซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับพระอภิธรรม และสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งกล่าวถึง “ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย” แสดงให้เห็นว่าการเกิดดับของจิตเร็วมาก แล้วที่เราคิดว่าเรามีชีวิตอยู่ เมื่อแตกย่อยลงไป แล้ว จะเห็นได้ว่า ทุกคนมีจิตเพียงชั่วขณะเดียวเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เมื่อจิตขณะก่อนดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
เพราะฉะนั้นขณะอย่าได้ล่วง หมายความว่าแต่ละขณะเกิด แล้วก็ดับไปเร็วมาก แต่ถ้าไม่รู้ความจริง เราก็จะไม่คิดว่า ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่เราจะหลง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของขณะเดี๋ยวนี้ซึ่งก็กำลังเกิดดับ การที่เราศึกษาเรื่องขณะจิต ก็เพื่อที่จะให้ทราบว่า ทุกขณะสามารถพิสูจน์ได้ รู้ได้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจโดยการฟังก่อน คือ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงเท่านี้ เราอาจจะได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ แล้วในชาตินี้ก็ได้ยินมาก แต่ประโยชน์ไม่ใช่เพียงทวนคำ ว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ต้องรู้จริงๆ ในขณะแต่ละขณะซึ่งเป็นจิตทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายที่จะปราศจากจิตไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าขณะไหนสติจะเกิดระลึก ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เราจะดูก็ไม่ได้ แต่ว่าต้องเป็นสติที่เกิดขึ้น แล้วก็ระลึก จึงรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่น ทางตาที่กำลังเห็น ลักษณะแท้ๆ ขณะนี้ก็คือเป็นธาตุ หรือว่าเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่งซึ่งคนตายไม่มี แล้ววันหนึ่งๆ เราก็เห็น แล้วกี่ขณะที่ว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย คือในขณะที่กำลังเห็น สติก็ควรที่จะมีปัจจัยที่จะเกิดระลึกได้ แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตาย จะปราศจากจิตไม่ได้
เพราะฉะนั้นแต่ละขณะก็สามารถที่จะให้ความจริงได้ ถ้าเราเข้าใจขึ้น แล้วก็สติสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดระลึก แล้วค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่เห็นนี้ ขณะที่ได้ยิน หรือว่าขณะที่กำลังคิดนึก ก็ตามแต่ ขณะนั้นเป็นขณะที่สติระลึกได้ในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ
ผู้ฟัง ทีนี้สติที่ระลึกได้ในขณะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สติเป็นเจตสิกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับจิต
ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง มีเจตสิกเกิดขึ้น ก็แสดงว่า จิตแต่ละครั้งแต่ละลักษณะก็มีเจตสิกเกิดร่วมเสมอ
ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ
ผู้ฟัง ทีนี้มีปัญหาว่า ที่ฟังคราวก่อนๆ มีบอกว่า สัตว์บางประเภทไม่มีจิต บางประเภท แล้วก็มนุษย์อาจจะมีจิตมาก มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมได้ฟังบอกว่า สำหรับสัตว์ที่มาเกิด เมื่อจิตเกิดขึ้นในขณะหนึ่ง จะไม่มีจิตที่เป็นกุศล เช่นว่าสติเกิดขึ้น หรือว่าศรัทธาหรือว่าปัญญา ก็ตามแต่ แสดงว่าลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ เจตสิกที่ปรุงแต่งในขณะนั้น กับมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ สัตว์เดรัจฉานหรือคะ
ผู้ฟัง สัตว์เดรัจฉาน
ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน คือ ต้องเข้าใจ ปฏิสนธิจิตไม่เหมือน แต่จิตอื่น เช่นจิตเห็นของสัตว์กับจิตเห็นของมนุษย์ หรือจิตเห็นของเทพ หรือแม้แต่จิตเห็นของรูปพรหม จักขุวิญญาณ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเหมือนกันหมด
นี่แสดงให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน เราเพียงสมมติกระแสของการเกิดดับของจิต จากปฏิสนธิ ว่าจิตประเภทนี้เมื่อปฏิสนธิ แล้วเป็นสัตว์ หรือว่าเป็นเทพ หรือว่าเป็นพรหมตามปฏิสนธิจิต แต่ว่าจิตขณะอื่นก็จะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตนั้นๆ ไม่ได้ เพราะส่วนมากเรามักจะคิดว่า จิตเที่ยง แล้วก็สืบต่อกัน แล้วก็มีอยู่ แล้วบ้าง แล้วก็ทำกิจต่างๆ กันคล้ายๆ กับว่า มีจิต แล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆ แต่ความจริงจิตยังไมได้เกิด แต่เกิดเมื่อมีปัจจัย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่ามีจิตคอยอยู่ แล้ว หรือว่ามีจิตเตรียมเก็บเอาไว้หลายๆ ประเภท แล้ว แล้วแต่ว่าประเภทไหนจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เลย แต่หมายความว่า ทุกขณะยังไม่มีจิตเกิด แต่จิตเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่จักขุวิญญาณ จิตที่กำลังเห็น หรือว่าโสตวิญญาณ คือจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ จิตที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ไปคอยสำหรับจะเกิด แต่เกิดเพราะโสตปสาทรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ กระทบกับเสียงซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะยังไม่ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยโดยการที่กระทบกับภวังคจิตก่อน แล้วเมื่อภวังคจิตซึ่งเป็นขณะเดียวของทุกคน เกิด แล้วก็ดับไป การกระทบนั้นก็ทำให้จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจลนะ แต่ยังไม่รู้อารมณ์ใหม่ แล้วเมื่อภวังค์คจลนะดับไป แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิด ก็ยังไม่รู้อารมณ์ใหม่ เพราะเหตุถ้าเป็นภวังคจิต แล้ว จะไม่มีรูป เสียง สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธรรมารมณ์ ที่อาศัยทวารเกิดเลย
เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ยังไม่มีการรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาที่จิตเกิดไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ก็ไม่ใช่ว่าคอยมาเกิด แต่เกิดเพราะปัจจัย คือการกระทบกันของอารมณ์ที่กระทบกับทวาร แล้วก็ดับ แล้วการดับนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าเหมือนกับไฟ ซึ่งอาศัยเชื้อ แล้วก็เกิดขึ้น แล้วเมื่อดับ แล้วก็ดับเลย แต่ว่าสำหรับนามธาตุนั้น เมื่อดับไป แล้วเป็นอนันตรปัจจัย คือ ไม่มีการที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดอีก เมื่อจิตขณะก่อนดับ ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเราทราบได้เลยว่า จิตซึ่งไม่เป็นอนันตรปัจจัย ได้แก่ จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจะเกิดจะตายอย่างไร ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิด