ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย ๒


    ผู้ฟัง การศึกษาการอบรมในเรื่องของพระอภิธรรม ก็ตามแต่ หรือว่าศึกษาในเรื่องของธรรมก็จะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้สติเกิดได้ปัญญาเกิดได้ ก็หมายความว่าต้องศึกษาอย่างเดียวเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขารขันธ์ เท่าที่เราทราบมาเรื่องขันธ์ ๕ ก็จะต้องทราบว่าสติปัญญาที่ได้ฟังทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่ตัวตน ปรุงแต่งให้เกิด แล้วแต่ว่าจิตขณะต่อไปจะเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทใด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพรครับ พูดถึงเรื่องเจตสิก อาจารย์ขยายความเรื่องของเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ ตามที่ได้มีแสดงเอาไว้พอที่จะเป็นแนวทาง ขอเรียนเชิญครับ

    อ.สมพร เรื่องจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นทุกครั้ง แต่ว่าเจตสิกนั้นเกิดครั้งละหลายๆ ดวง คือ หลายๆ ดวง หรือหลายๆ ประเภท แต่จิตเกิดขึ้นครั้งละ ๑ ดวง หรือครั้งละ ๑ ประเภท แต่ก่อนอื่นที่ผมจะกล่าวอย่างนี้ ผมจะขอย้อนต้นนิดหนึ่งที่กล่าวว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย เพราะว่า “ขณะ” นี้มีความหมายหลายอย่าง ผมจะกล่าวอีกแง่หนึ่ง อีกนัยหนึ่ง นัยหนึ่งอาจารย์ท่านก็กล่าวไปแล้ว แต่ว่ามีอีกหลายนัย อีกนัยหนึ่ง คำว่าขณะนี้หมายถึงเวลา คำว่าเวลา นี่ก็มีความหมายหลายอย่าง เวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เวลาที่พระธรรมยังเป็นไปอยู่ เวลาที่พระสงฆ์ยังเป็นไปอยู่ หรือเวลาที่เราเกิดเป็นมนุษย์ อันนี้เขาก็ใช้คำว่า ขณะ หรือคำว่า จิต เราก็ใช้เป็นขณะ แต่ขณะนี้ ก็คือเวลา แปลว่าเวลา ขณะหนึ่ง ครู่หนึ่ง ยามหนึ่ง อะไรอย่างนี้ เป็นประเภทเดียวกัน คำว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย นี้ก็หมายความว่าไม่ควรปล่อยเวลาให้มันผ่านไปๆ ๆ ๆ หมดไปๆ ๆ ๆ โดยที่เราไม่มีสติเกิดขึ้นเลย เป็นการสูญเปล่าเวลาที่มีค่า เพราะว่าชีวิตของเราเมื่อผ่านไปๆ ก็ใกล้ความตายเข้าไปทุกครั้ง เหมือนนายโคฆาต คือ คนฆ่าโค จูงโคไปสู่ที่ฆ่า ก้าวเท้าเข้าไปก้าวหนึ่งก็ใกล้เข้าไปก้าวหนึ่ง ๒ ก้าวก็ใกล้ไป ๒ ก้าว ๓ ก้าว ท้ายที่สุดก็ถึงความตาย ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าอย่าให้ขณะได้ล่วงไปเลย หมายความว่าเวลาของเรากำลังมีค่า มีค่าเพราะมีสติ ถ้าไม่มีสติก็ไม่มีค่า เวลาก็เสียไปเปล่าๆ ดังนั้นเพื่อจะย้ำให้มีสติอยู่ทุกขณะ ท่านจึงกล่าวว่า ขณะอย่าได้ล่วงไปเลย มันเป็นความหมายที่รู้ยาก

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็คือเวลา อย่าให้เวลานั้นผ่านไปเฉยๆ

    ทีนี้ปัญหาที่ ๒ ที่ถามว่า จิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงจะต้องมีเจตสิกเป็นเครื่องปรุงแต่ง แต่เราจะไม่กล่าวจิตอื่น จะกล่าวจิตที่เกี่ยวกับสติปัฏฐานที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เอาของที่ง่ายๆ ก่อน เจตสิก คือ ธรรมชนิดหนึ่ง ในพระบาลีท่านกล่าวคำว่าธรรม คือ จิต และเจตสิก ดังนั้นบางครั้งท่านเรียกเจตสิกว่าธรรม บางครั้งก็เรียกจิตว่าธรรม แต่ว่าคำว่าธรรมนี้ แม้นิพพานก็เรียกธรรม ธรรมหมายความว่าสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมปรุงแต่งทำให้เกิดการเห็น ถ้าเจตสิกไม่เกิด การเห็นก็ไม่เกิด จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ จิตเห็นก่อนที่จะเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ เจตสิกเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้เกิดการเห็นขึ้น ท่านจึงเรียกจิต และเจตสิกว่า สังขตะ หรือ สังขาร

    สังขตะ แปลว่าสิ่งซึ่งปรุงแต่งแล้ว สังขารคือสภาพที่ปรุงแต่ง คือทำนองเดียวกันจะเรียกว่าสังขตะหรือสังขาร เจตสิกที่เกิดขึ้นกับการเห็นก็มี ๗ ดวงเท่านั้น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย มีเจตสิก ๗ ดวง คงที่ เกิดกับจิตหนึ่ง จิต ๑ เจตสิก ๗ รวมเป็น ๘ ดวง ไม่มาก น้อยที่สุด

    ท่านอาจารย์ เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ก็มี ๕๐ ประเภท

    ผู้ฟัง สังขารขันธ์ก็มี ๕๐ ประเภท ทำไมแยกเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่รวมไปเลย ไม่ได้หรือครับ

    ท่านอาจารย์ เรายึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียงลำดับตั้งแต่รูปขันธ์ ทั้งหมดมีความยึดมั่นในรูปขันธ์ เพราะฉะนั้นรูปก็เป็นอุปาทานขันธ์ มีความยึดมั่นในความรู้สึกก็เป็นเวทนาขันธ์ แล้วสัญญา ความจำ ถ้าปราศจากสัญญาแล้ว ทุกอย่างก็คงจะไม่มีความหมาย แต่เพราะเหตุว่าสัญญาจำ เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้เกิดเครื่องปรุงแต่งทั้งหลายอีก เพราะฉะนั้นสัญญาก็เป็นสัญญาขันธ์ แล้วเจตสิกที่เหลือก็รวมเป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดก็เป็นวิญญาณขันธ์


    หมายเลข 8894
    22 ส.ค. 2567