สติเกิดกับวิถีจิตดวงไหน
ผู้ฟัง ในวิถีจิตตั้งแต่อาวัชชนะ ทวิปัญจวิญญาณ แล้วก็ไปสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ แล้วก็ชวนะ ทีนี้อยากจะกราบเรียนถามว่า ในช่วงวิถีจิตเหล่านี้ สติเกิดขึ้นในช่วงวิถีของจิตที่เกิดขึ้นตามที่ผมลำดับมานี้ เป็นช่วงไหนครับ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องกิจของจิต ซึ่งจะต้องทราบว่า จิตทุกดวงเกิดขึ้นทำกิจแต่ละกิจ เช่น ภวังคกิจ ทำกิจภวังค์ คือ ดำรงภพชาติ เพียงดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิด ไม่ฝัน อะไรทั้งหมด เพียงดำรงภพชาติหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป ที่ใช้คำว่าดำรงภพชาติก็คือว่า ยังไม่เห็น ขณะที่เห็นไม่ใช่ภวังคจิต
เพราะฉะนั้นเริ่มวิถีจิตตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจ ต้องทราบกิจของจิตนี้ ไม่ใช่เห็น เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ ถ้าไม่รู้ หรือว่าไม่รำพึงถึงอารมณ์นั้นก่อน จักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น หรือโสตวิญญาณ จิตได้ยินเหล่านี้ก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ต้องมีจิตซึ่งทำอาวัชชนกิจ เพราะฉะนั้นเราเรียกชื่อของจิตตามกิจได้ว่า อาวัชชนจิต ซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ ๕ ทาง จึงชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิจ กิจเดียว เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจดับไปแล้ว ถ้าเป็นทางตาที่กำลังเห็น จักขุวิญญาณก็ทำทัสสนกิจ ที่กำลังเห็น ภาษาบาลีชื่อก็คงจะคุ้นหูแล้ว ทัสสนกิจคือกิจเห็น ถ้าเป็นทางหูที่กำลังได้ยิน ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่าได้ยิน จิตกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดเฉยๆ ทำกิจได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสวนกิจในภาษาบาลี การฟังหรือการได้ยินก็เป็นสวนกิจ ถ้าขณะนี้ใครจะได้กลิ่น ขณะนั้นก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น ถ้ากำลังลิ้มรส ซึ่งน่าอัศจรรย์ว่า รสอาหารมีต่างๆ รสผลไม้แต่ละชนิด แต่ว่ายังมีจิตที่สามารถจะลิ้มรสนั้นซึ่งอาศัยอยู่กับมหาภูตรูปได้ รสอาหารจะต้องอาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของรส แต่ก็ยังมีจิตที่สามารถจะลิ้มรสที่ต่างกัน ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูปนั้นได้ ขณะนั้นก็เป็นจิตซึ่งทำกิจลิ้มรส ไม่ใช่เราเลยขณะนั้น ขณะนั้นจิตนั้นก็ทำสายนกิจ คือ กิจลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กาย เวลากระทบสัมผัสก็เป็นจิตที่ทำผุสสนกิจ หมายความถึงรู้ลักษณะที่อ่อน หรือรู้ลักษณะที่แข็ง รู้ลักษณะที่เย็น รู้ลักษณะที่ร้อน บางคนก็ถามว่า แล้วลื่นๆ นี่อะไร เหนียวเหนอะหนะๆ อะไร คือรู้สึกว่าจะมีคำอื่น นอกจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็จะมีลื่น มีเหนียวอะไร ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ ให้ทราบว่าเมื่อรู้ทางกาย ขณะนั้นกำลังมีสภาพปรมัตถธรรมซึ่งไม่ต้องอาศัยชื่อใดๆ ลักษณะนั้นก็ปรากฏ แล้วภายหลังเมื่อปัญญาเจริญ สามารถจะรู้ในลักษณะของธาตุนั้นว่า ธาตุนั้นคือธาตุที่ต่างลักษณะ จะเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม ก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องอาศัยชื่อเลย และในขั้นต้นก็เพียงแต่รู้ว่า สิ่งนั้นปรากฏทางกาย ขณะนั้นมีจิตซึ่งกระทำผุสสนกิจ เพื่อจะได้เห็นว่าวันหนึ่งๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดไม่ใช่เราเลย เป็นจิตแต่ละประเภท และเมื่อจิตเหล่านี้ คือ ๑๐ ดวงนี้ ดับไปแล้ว ๑ ใน ๑๐ ดวงดับไปแล้ว จิตซึ่งเกิดต่อทำสัมปฏิจฉันนกิจ นี่เป็นอีกกิจหนึ่ง
เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังแล้วจำชื่อ ภายหลังจะรวบรวมกิจทั้งหมดของจิตได้ ซึ่งมี ๑๔ กิจ โดยไม่ยาก ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยไป นี่ก็ได้ตั้งหลายกิจ ตั้งแต่ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ แล้วก็ ๕ กิจนั่น แล้วก็เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว จิตต่อไปก็เกิดขึ้นทำกิจสืบเนื่องต่อกัน คือ สันตีรณกิจ แล้วก็ดับไป ขณะเหล่านี้ยังไม่ใช่สติปัฏฐานทั้งหมดเพราะว่าสันตีรนจิตก็ทำสันตีรณกิจเท่านั้น แล้วเมื่อสันตีรณจิตดับ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นก่อนชวนะดับไปแล้ว เมื่อเป็นชวนจิต จะทราบว่าเป็นจิตซึ่งเกิดซ้ำกันรู้อารมณ์เดียวกันถึง ๗ ขณะ
เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นมหากุศลจิต หรือว่าเป็นจิตอื่นทั้งหมดซึ่งไม่ใช่จิตที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว คือไม่ใช่จิตที่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำภวังคกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำอาวัชชนะกิจ ไม่ใช่จิตที่ทำ ๕ กิจนั้น ไม่ใช่จิตที่ทำสัมปฏิจฉันนะ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจ สันตีรณะ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจโวฏฐัพพนะ เพราะฉะนั้นจิตที่เหลือทั้งหมดทำชวนกิจ และขณะที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา สติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรมนั้น ทำชวนกิจ
ผู้ฟัง ตอนช่วงนี้ ที่ว่าสติเกิดใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ สติเกิดกับกุศลจิตทำชวนกิจ ๗ ขณะ
ผู้ฟัง ไม่ทำโวฏฐัพพนะ หรือครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ โวฏฐัพพนะเกิดขณะเดียว เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต นี่เป็นเรื่องที่ก่อนอื่นก่อนที่จะก้าวไปสู่ปริจเฉทสูงๆ หรือว่าเรื่องจิตประเภทต่างๆ ต้องย้อนกลับมารู้เรื่องชาติของจิต ไม่ว่าจะได้ยินจิตใดก็ตาม ให้ทราบว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร เพื่อที่จะได้รู้กิจการงานของจิตนั้น อย่างจิตที่เป็นกิริยาจิต อย่างปัญจทวาราวัชชนจิต หรือโวฏฐัพพนจิต หรือว่ามโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต
ผู้ฟัง แสดงว่าสตินั้นต้องเกิดกับกุศลจิต
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจะเกิดกับทางกิริยาจิตไม่ได้
ท่านอาจารย์ สำหรับอเหตุกกิริยา ๒ ดวงซึ่งเรามี ไม่ใช่กริยาจิตของพระอรหันต์ ถ้าเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ต้องแยกออกไปว่า เป็นโสภณกิริยาจิต