เหมือนกำมือที่ว่างเปล่า
พระคุณเจ้า อาตมาก็อยากจะถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ในขณะที่บุคคลศึกษาพระอภิธรรมจากที่ได้เรียนรู้เรื่องวิถีจิตต่างๆ โดยชื่อต่างๆ ซึ่งเมื่อสังเกตดูแล้วความเข้าใจในเรื่องของจิตแต่ละระดับ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาก็จะเห็นว่า ละเอียดมาก คลายความสงสัยไปได้ว่า ทำไมจิตจึงเกิดได้ ทำไมจิตจึงดับไป หรือว่าทำไมจึงรู้อารมณ์ได้ เช่น การศึกษาเรื่องของวิถีจิต ทีนี้ถ้าเกิดว่าพูดถึงนัยของบุคคลที่ฟังแต่พระสูตรเช่นอย่างในครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงแสดงธรรมสั้นๆ เช่น เห็นสักแต่ว่าเห็น ในขณะนั้นบุคคลที่สามารถมีสติปัฏฐานเกิดขึ้นรู้ลักษณะของธรรมได้ทันที นี่แสดงให้เห็นว่า เขาก็ไม่มีความสงสัยเรื่องของจิต ถูกไหม เจริญพร
ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ หมายความว่า ถ้าได้ยินว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น คนนั้นเข้าใจความหมายทันที ว่าเห็นเป็นสภาพรู้ แล้วไม่ใช่ตัวตนด้วย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับด้วย คือ คำๆ เดียวขึ้นอยู่กับความเข้าใจคนฟังว่า คนฟังเข้าใจได้ลึกซึ้งแค่ไหน ถ้าบอกว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น คนที่ไม่เข้าใจธรรมเลย ก็พูดตามว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น แต่ก็ไม่เข้าใจอะไร แต่ถ้าคนที่เข้าใจแล้วก็เข้าใจได้ลึกจนกระทั่งว่า ขณะนี้เห็น สักแต่ว่าเห็น จริงๆ เพราะเหตุว่าเหมือนกำมือที่ว่างเปล่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไปเลย ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เป็นของใครเลย เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นเราเห็นเมื่อสักครู่นี้ ก็คือความว่างเปล่าจากตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ
พระคุณเจ้า เพราะฉะนั้นบุคคลคนนี้ก็จะต้องมีความเข้าใจดีว่า จิตเกิดขึ้นแล้วต้องดับ ไม่กลับมาอีก เขาต้องมีความรู้อันนี้มาก่อน ถูกต้องไหม เจริญพร
ท่านอาจารย์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจขนาดที่ว่า พอฟังแล้วเข้าใจอย่างท่านพระสาลีบุตร ไม่ต้องกล่าวมากเลย ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ขณะนี้ที่กำลังเห็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าต้องมีปัจจัย จึงเกิดขึ้น ชั่วขณะที่ฟัง
พระประภาส ไม่จำเป็นต้องไล่ชื่อ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าคลายความสงสัยมาแล้ว ถูกต้องไหม เจริญพร
ท่านอาจารย์ สำหรับพวกปทปรมะ ที่ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่ได้อาศัยการฟังอย่างละเอียด และเมื่อฟังอย่างละเอียดแล้ว ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกได้มากน้อยเท่าไรในแต่ละชาติ ถ้าใครสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ ผู้นั้นเป็นเนยยบุคคล แต่ไม่มีใครในยุคนี้ที่เป็นอุคฆติตัญญู หรือว่าวิปจิตัญญูบุคคล