จิตมีลักษณะเดียวแต่หลายกิจ


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า ทำไมจึงเรียกว่าสันตีรณจิต แล้วก็มีความหมายอย่างไรในความลึกซึ้งของสันตีรณจิต

    อ.สมพร ผมก็ตอบอย่างนี้ก่อน ขึ้นชื่อว่าจิตทั้งหมดมีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่ว่าจิตทั้งหมดนั้นมีการทำกิจต่างกัน ถ้าลักษณะมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ เหมือนกันหมด ทุกดวง ไม่ว่าจิตดวงไหน มีลักษณะอย่างเดียว คือ รู้อารมณ์ แต่กิจของจิต กิจคือหน้าที่การงานของจิตนั้น เฉพาะจิตดวงนี้มีหน้าที่อย่างนี้ เฉพาะจิตดวงนี้มีหน้าที่อย่างนี้ เหมือนจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ ส่วนโสตวิญญาณ จิตได้ยินทำหน้าที่ของตน ทำกิจเป็นสวนกิจ กิจนั้นต่างกัน แต่ลักษณะของจิตทุกดวงเหมือนกัน คือ มีการรู้อารมณ์ ถ้ายังไม่จุติ การรับอารมณ์ทุกครั้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องมีสันตีรณจิต ซึ่งต่อจากสัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ แปลว่าพิจารณา บางครั้งจะแปลอย่างอื่นก็ได้ นี่ผมแปลเอาอย่างเดียว แปลว่าพิจารณา พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ สัมปฏิจฉันนจิตนั้นทำกิจอย่างหนึ่ง เรียกว่าทำกิจรับอารมณ์ต่อ เมื่อรับอารมณ์ต่อแล้วอารมณ์ยังมีอยู่ ก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่งทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่ยังอยู่นั้น เรียกว่า สันตีรณจิต จิตทำกิจพิจารณาอารมณ์ เป็นกิจ เรียกว่าสันตีรณกิจ ถ้าเป็นจิต เรียกว่าสันตีรณจิต ต่างกันนิดหนึ่ง กิจกับจิต ถ้าลักษณะของจิต ต้องจำไว้ว่า มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด ทั้ง ๘๙ ดวง มีการรู้อารมณ์ แต่กิจหน้าที่ของจิตนั้นต่างกัน แล้วแต่ว่าจิตเห็น ก็ทำหน้าที่ทำทัสสนะ คือ การเห็น ถ้าจิตได้ยินก็ทำหน้าที่ได้ยิน คือ สวนะ สวนกิจ เมื่อสัมปฏิฉันนจิตเกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องมีสันตีรณจิต เพราะว่าอารมณ์ยังมีอยู่ เมื่ออารมณ์ยังมีอยู่ตราบใด จิตก็ยังเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อๆ กันไป จนกระทั่งอารมณ์นั้นหมดไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสันตีรณจิต


    หมายเลข 8902
    22 ส.ค. 2567