อกุศลวิบากให้ผลแค่จิต ๗ ดวง


    ผู้ฟัง สันตีรณะมี ๓ ก็สงสัย รับไป ๒ เพิ่มมาอีกเป็น ๓ อันนี้กรุณาอธิบาย เป็นเพราะอะไร จึงเป็น ๓ ดวง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไปเปลี่ยนที่จะไม่ให้เป็นอย่างนี้ คือ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แม้แต่คำถามที่ว่า ไม่มีสันตีรณจิตได้ไหม ถ้าคิดถึงว่าต้องมีจิต ไม่มีจิตไม่ได้ แล้วก็จิตที่จะเกิดก็ไม่มีใครไปบังคับหรือไปเปลี่ยนแปลง ต้องแล้วแต่ปัจจัย เช่นเมื่อจักขุวิญญาณดับ จิตต่อไปต้องเกิดต่อ จะเรียกชื่อว่าอะไร หรือไม่เรียกชื่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อเลย แต่เรียกเพื่อให้เข้าใจว่า จิตนี้เป็นวิบาก ซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ แสดงว่ากรรมทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น คือ จะได้ทราบว่าในวันหนึ่งๆ ชีวิตของเราส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม คือ เป็นวิบาก เมื่อเป็นผลของกรรมที่สำเร็จแล้ว ที่ทำไปแล้ว ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะแยกให้เข้าใจเรื่องชาติของจิต ที่ต้องรู้อย่างแน่นอนว่า จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว มีอะไรบ้าง ขณะไหนบ้าง แล้วเมื่อหมดกิจหน้าที่ของจิตซึ่งเป็นวิบากแล้ว ต่อจากนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นเหตุใหม่ที่จะทำให้เป็นการสะสมแล้วก็เกิดผลข้างหน้า นี่เป็นส่วนที่จะต้องเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นในเรื่องของวิบากก็ต้องทราบว่า ตั้งแต่ปฏิสนธิ ภวังค์ จนกระทั่งถึงเวลาที่เป็นวิถีจิตเกิดขึ้น วิถีจิตแรกไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่รำพึงถึงอารมณ์เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับ แล้วต่อจากนั้นก็เป็นวิบากอีก

    นี่คือการที่จะให้ทราบกระแสของชีวิตซึ่งเป็นจิตแต่ละประเภท ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เปลี่ยนไม่ได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า เมื่อเหตุที่ได้ทำไปแล้ว เสร็จแล้ว ผลต้องมี เพราะฉะนั้นก็ควรจะพิจารณาถึงผลของกุศลกับอกุศล ถ้าเป็นอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมหนักสักเท่าไรก็ตาม เป็นการฆ่ามารดาบิดา หรือว่าประทุษร้ายพระผู้มีพระภาค หรือว่าจะทำร้ายชีวิตเพระอรหันต์ กรรมทั้งหมดที่เป็นอกุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิตเพียง ๗ ดวง เหมือนกับสิ่งที่ทำไปแล้วเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นผลต้องมี นี่ต้องคิดก่อน เป็นธรรมดาแน่นอนซึ่งผลต้องเกิด แล้วสำหรับอกุศลวิบาก ผลไม่มาก น้อยที่สุดเลย ทั้งๆ ที่กรรมหนักสักเท่าไรก็ตาม อกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น คือ จิตเห็น ๑ จิตได้ยิน ๑ จิตได้กลิ่น ๑ จิตลิ้มรส ๑ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ๕ แล้ว แล้วก็มีสัมปฏิฉันนจิต ๑ สันตีรณจิต ๑ ที่เป็นอกุศลวิบาก เท่านั้นเอง แต่ไม่มีใครชอบ แล้วก็ไม่มีใครอยากได้ผล แต่เหตุทำอยู่บ่อยๆ ก็เป็นได้ ถ้าไม่เข้าใจ

    แต่สำหรับทางฝ่ายกุศล นี่เป็นความต่างกัน ทางฝ่ายกุศล อย่างมหากุศลมีเพียง ๘ ดวง แต่ให้ผลเป็นกุศลวิบากถึง ๑๖ ดวง

    นี่แสดงให้เห็นความต่างกันของการให้ผลของอกุศลกรรมกับกุศลกรรม เพียงกุศลกรรมไม่ว่าจะเป็นในทาน หรือในศีลก็ตาม ที่ทำสำเร็จแล้ว แต่ทำให้เกิดกุศลวิบากจิตได้ถึง ๑๘ ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกะ หรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เรากำลังกล่าวถึงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๕ แล้วก็สัมปฏิฉันนะ ๑

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีวิบากแค่ ๗ ลักษณะเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ สันตีรณจิตอีก

    ผู้ฟัง ก็เป็น ๗ รวมทั้งอันนั้น ๕ แล้วก็อีก ๒ ก็เป็น ๗ เพราะฉะนั้นวิบากที่จะได้รับจากผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นกุศลหรืออกุศลวิบาก ถ้าอกุศลแล้ว ๗ ถ้ากุศลแล้วเพิ่มอีก ๑ คือ สันตีรณะ มี ๒ แทนที่จะมี ๑ หมายความว่ากุศลวิบาก นอกจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๕ สัมปฏิฉันนะอีก ๑ เป็น ๖ และสันตีรณจิตอีก ๒ เป็น ๘ ซึ่งทางฝ่ายกุศลมีมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ๑

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นฝ่ายกุศลก็คง

    ท่านอาจารย์ ให้ผลมากกว่า

    ผู้ฟัง ให้ผลมากกว่าฝ่ายอกุศล ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทำกุศลรู้สึกได้กำไรมากกว่าอกุศล ทีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเพราะอำนาจที่เป็นอย่างนั้นเอง เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้นเอง จึงได้ทรงแสดงไว้อย่างนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะคำนึงถึงเหตุ อกุศลก็เกิดง่าย แล้วก็ทำบ่อย ไม่ยาก พร้อมที่จะเกิด แต่กว่ากุศลแต่ละประเภทจะเกิด ไม่ง่าย ต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิกมาก เพราะฉะนั้นจึงให้ผลมากกว่าทางฝ่ายอกุศล

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกุศลจะมีเจตสิกเกิดมากกว่า

    ท่านอาจารย์ สันตีรณะมี ๒ ดวง ซึ่งทางฝ่ายอกุศล สันตีรณะมีเพียง ๑ ดวง คำถามที่ว่าทำไมถึงสันตีรณะเป็น

    ผู้ฟัง มี ๓ ดวง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวงแล้ว ก็เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    ผู้ฟัง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังก็คงอาศัยว่าได้ฟังบ่อยๆ เพราะฉะนั้นท่านก็คงจะจำชื่อได้ แล้วคงจะพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นจิตอย่างนั้น ผมคิดว่าในเรื่องของตัวสภาวธรรมของจิตจริงๆ นั้น ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ จะรู้ได้ก็ต้องอาศัยสติปัญญาที่จะต้องหมั่นพิจารณาอยู่บ่อยๆ อยู่เสมอๆ ในสภาพของจิตที่เป็นวิบากอย่างนี้ การที่จะระลึกรู้นั้นคงจะรู้ยาก

    ท่านอาจารย์ การที่เพิ่มแล้วจริงๆ ที่เพิ่มมากกว่า ก็ไม่มากกกว่าเท่าไรเลย คือ มีสันตีรณะที่มากกว่า ๑ ดวง แล้วก็มหาวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม แต่มหาวิบากก็เพียงแต่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ตทาลัมพนะ ซึ่งเรายังไม่กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่าเป็นการจำแนกบุคคลให้ต่างกัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเกิดในสุคติภูมิ แต่ก็มีบุคคลหลายระดับ ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ไม่มีทางที่จะจำแนกได้อย่างนั้น เหมือนกันหมด คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกด้วย


    หมายเลข 8903
    22 ส.ค. 2567