มัชฌัตตบุคคล
ผู้ฟัง ขอเรียนถาม โสมนัสสันตีรณะกับอุเบกขาสันตีรณะ อุเบกขาสันตีรณะซึ่งเป็นกุศลวิบากนี้ คิดว่าได้รับอารมณ์ดีธรรมดา ที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์อย่างนั้นไหมครับ ถ้าเป็นโสมนัสสันตีรณะ ได้รับอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดียิ่ง อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ
ผู้ฟัง ทีนี้ก็สงสัยต่อไปว่า จะตัดสินได้อย่างไรว่า การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การกระทบสัมผัส อย่างการเห็น บางคนจะตัดสินว่า ดี ไม่ดี มันตัดสินลำบาก อย่างคนที่เขาไม่ค่อยมีทรัพย์สินเงินทอง เขามีอะไรเล็กๆ น้อยๆ อาจจะเกิดยินดีอย่างยิ่ง สำหรับคนมั่งมีร่ำรวย สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ เขาก็ไม่เป็นที่ยินดีสำหรับเขา จะตัดสินว่าดีหรือไม่ดี อย่างไร ตัดสินลำบาก กรุณาอธิบายหน่อยครับ
อ.สมพร เรื่องการตัดสิน ท่านแยกบุคคลเป็น ๓ ประเภท บุคคลชั้นต่ำที่สุด บุคคลชั้นสูงที่สุด บุคคลชั้นปานกลาง นี่อธิบายบุคคลทั้ง ๓ ก่อน บุคคลที่ต่ำที่สุดได้ของที่เลวก็ชอบใจ จึงไม่เป็นมาตรฐานที่จะกล่าว หรือบุคคลที่สูงที่สุด เช่น พระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระเจ้ามันธาตุราช ได้ของที่ประณีตที่สุด บางทีก็ยังเฉยๆ ไม่เป็นมาตรฐาน ในข้อนี้ท่านเรียกเป็นมัชฌัตตบุคคล บุคคลปานกลาง ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป แล้วอารมณ์นั้นปรากฏ ปรากฏตามสภาวะ สิ่งที่ดี ดีคือดีปานกลาง หรือดีพิเศษ ปรากฏแก่บุคคลชั้นกลาง ถือบุคคลชั้นกลางเป็นประมาณ ไม่เอาบุคคลชั้นต่ำสุด หรือสูงสุด บุคคลชั้นต่ำสุด เพราะว่ายากจนอยู่แล้ว ของที่คนอื่น บุคคลชั้นสูงบอกไม่ดี แต่เขาบอกว่าเป็นของที่ดี ดังนั้นชนชั้นต่ำสุดจึงไม่ถือเป็นประมาณในที่นี้ คงถือเอามัชฌัตตบุคคล บุคคลกลางๆ เห็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ดียิ่ง คำว่าดีก็คือดีปานกลาง เมื่อเห็นแล้ว สันตีรณอุเบกขาที่เป็นอุเบกขาก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อ ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แต่ถ้าอารมณ์นั้นดีมากที่สุด โสมนัสสันตีรณะ ก็รับอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ท่านมุ่งถึงคนปานกลางอย่างนี้
ผู้ฟัง สันตีรณะบางแห่งเขาแปลว่า ไต่สวนอารมณ์ กับการที่แปลว่าพิจารณาอารมณ์นี้มีนัยอธิบายต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร
อ.สมพร คำว่าสันตีรณะ เราจะแปลว่าไต่สวนก็ได้ แปลว่าพิจารณาก็ได้ ไต่สวนลองพิจารณาโดยอรรถ ไต่สวนก็คือสอบถาม สอบถามก็คือการพิจารณา ดังนั้นภาษาบาลีเป็นของคงที่ แต่ภาษาท้องถิ่นคนนี้แปลอย่างนี้ คนโน้นแปลอย่างนั้น บาลีต้องคงไว้เป็นของคงที่ แต่ว่าความหมายมุ่งถึงอย่างเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบเคยคิดที่จะวัด หรือที่จะเลือก หรือที่จะกำหนดกฎเกณฑ์หรือเปล่าว่า อารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์ หรือว่าเพียงแต่อยากจะทราบหลักหรือกฎที่จะตัดสิน
ผู้ฟัง ก็ไม่เคยคิดจะเทียบ คิดว่า ดีตามสภาพ หรือตามสภาวะที่ควรจะเป็น ก็คิดเอาอย่างนั้น พอดีท่านอาจารย์สมพรบอกว่าเอามัชฌัตตบุคคลเป็นเครื่องติดสิน ก็พอจะประมาณได้ว่า คงจะดีตามสภาพของอารมณ์ที่ดี สภาพหรือสภาวะที่เป็นเอง คงไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจ ซึ่งมันเป็นเรื่องของโลภะกับโทสะ
ท่านอาจารย์ แต่ถึงอย่างนั้นก็จะง่ายหรือยากในการพิจารณาว่า สิ่งนี้เป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าสิ่งนี้เป็นอติอิฏฐารมณ์ ยากหรือง่ายถึงแม้ว่าจะกล่าวอย่างนี้ ก็ยังยาก
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพิจารณาอย่างที่ไม่ต้องให้สงสัยต่อไป หรือว่าจะต้องคิดมากในเรื่องนี้ ก็ทราบว่าอารมณ์ต้องมี ๒ อย่างโดยประเภท คือ อารมณ์ที่ดีก็ต้องมี แล้วอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ต้องมี โดยสภาพของอารมณ์นั้นเอง เพราะว่าอารมณ์จะเหมือนกันไม่ได้ สิ่งใดๆ ในโลกไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าเมื่อจำแนกแล้วก็แยกได้เป็นส่วนใหญ่ๆ ว่า เป็นอารมณ์ที่ดีกับอารมณ์ที่ไม่ดี แล้วอารมณ์ที่น่าพอใจนั้นก็ยังมีอารมณ์ที่น่าพอใจยิ่งซึ่งเป็นสิ่งซึ่งไม่มาก ไม่บ่อย แล้วก็มีน้อย แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเป็นผลของกุศลกรรมอย่างประณีต แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งคิด หรือมานั่งเลือก มานั่งวัดว่า อันนี้เป็นอะไรในวันหนึ่งๆ แต่ให้ทราบว่า เมื่อลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง แล้วก็ผลของกุศลนี้ก็มีประณีตขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปจัดสรรให้ โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้น หรือว่าจะให้เห็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าอารมณ์ขณะนั้นเมื่อเกิดกระทบ ทั้งๆ ที่มีอายุเพียง ๑๗ ขณะจิตเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้กุศลวิบากจิตประเภทใดเกิดขึ้น เกินกว่าที่เราจะรู้ แต่ให้ทราบว่าต้องเป็นไปตามนั้น เพราะเหตุว่าโดยสภาพของอารมณ์จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะมานั่งเถียงกันว่า คนนี้ชอบ คนนั้นไม่ชอบ เพราะฉะนั้นอารมณ์นี้เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์อย่างไร แต่ให้ทราบว่า จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม สภาพลักษณะของอารมณ์ต้องแยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ อิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจประเภทหนึ่ง และอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจประเภทหนึ่ง แล้วในอิฏฐารมณ์นั้น ก็ยังมีอารมณ์ที่ประณีตยิ่ง ที่น่าพอใจยิ่งด้วย เท่านั้นเอง คือให้ทราบว่า ก่อนที่ชวนวิถีจิต โลภะ หรือโทสะ หรือกุศลจิตจะเกิด วิบากจิตต้องรู้อารมณ์พวกนี้ก่อน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เอาความชอบของเราตัดสิน ต้องเป็นไปตามกรรม ซึ่งแล้วแต่ว่า จะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตประเภทใดเกิด