เข้าใจสันตีรณจิตได้อย่างไร


    ผู้ฟัง เรียนถามท่านวิทยากรอาจารย์สุจินต์ ขอความกรุณาอธิบายความหมายของสันตีรณจิต ที่ว่าพิจาณาอารมณ์ หรือว่าไต่สวนอารมณ์ หรือว่าใคร่ครวญอารมณ์ ในความหมายในแง่มุมมองของสันตีรณจิต ในลักษณะสันตีรณจิตเป็นอย่างไร ขอเรียนเชิญอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ก็คงจะไม่ลืมว่า ที่จริงที่เราใช้คำว่า ปฏิสนธิจิต หรือว่าภวังคจิต จักขุวิญญาณ พวกนี้ เป็นเพียงชื่อซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำภาษาบาลี แต่ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ สภาพธรรมเหล่านี้ก็เกิดขึ้น แล้วก็กระทำกิจตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่คำว่า “สันตีรณะ” ถ้าไม่เรียกชื่อเลย ตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต แล้วก็ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตก็ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไม่เรียกชื่อเลย เวลาสนทนากันเราก็ไม่รู้เรื่องกัน

    ท่านอาจารย์ คือว่าปรมัตถธรรม หมายความว่าเป็นสภาพที่มีจริง ซึ่งเราจะต้องไม่ลืม เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ลืมว่า เรากำลังพูดถึงปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีจริง ซึ่งแม้ไม่เรียกชื่อ สภาพธรรมนั้นๆ ก็ต้องเกิด อย่างสันตีรณะก็ต้องเกิด แต่ทำไมเราจึงต้องใช้คำ สันตีรณะ เพื่อที่จะให้เข้าใจความต่างของสัมปฏิจฉันนะกับสันตีรณะ

    ซึ่งสำหรับปฏิสนธิจิตก็ทราบแล้วเป็นความต่างคือ เป็นจิตขณะแรกซึ่งทำกิจเกิดขึ้นในภพนี้สืบต่อจากชาติก่อน เพราะฉะนั้นจะเป็นขณะเดียว แล้วก็เป็นชาติวิบากด้วย เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ต้องมีจิตเกิดต่อแน่นอน เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น แล้วเราก็ใช้คำว่า “ภวังคจิต” เพราะว่าจิตนั้นดำรงภพชาติ

    นี่คือชื่อซึ่งเราใช้สำหรับให้เข้าใจความหมายของจิต ซึ่งจะต้องเกิดดับสืบต่อ ยับยั้งไม่ได้เลย แล้วแต่ละขณะก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเลย เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับแล้ว จิตขณะต่อไปไม่ใช่จิตปฏิสนธิกลับมาทำหน้าที่ภวังค์ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่การดับไปของปฏิสนธิจิตนั้น เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิด เพราะฉะนั้นภวังคจิตไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เราก็เรียกชื่อจิตซึ่งเกิดต่อปฏิสนธิว่า “ภวังค์” เรื่อยมาจนกระทั่งถึงขณะที่รูปกระทบกับทวาร เมื่อกระทบกับทวารแล้ว ก็กระทบกับจิตด้วย จึงจะมีการเห็น หรือว่าจิตขณะต่อไปจึงจะรู้อารมณ์ใหม่ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ได้

    เพราะฉะนั้นรูปซึ่งกระทบกับทวารใด ทวารนั้นเราก็เรียกชื่อว่า “อตีตภวังค์” ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแสดงอายุของรูปนั่นเองว่า รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปนั้นจะไปดับที่จิตขณะไหน บางทีบางวาระวิถีจิตไม่เกิดเลยก็ได้ บางวาระวิถีจิตก็เกิดไม่หมด ไม่ครบ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่แน่นอนว่า ที่ใช้คำว่าอตีตภวังค์เป็นการแสดงอายุของรูป นี่ให้ทราบไว้ด้วย และเมื่ออตีตภวังค์ ดับไปแล้วภวังค์ดวงต่อไปก็ไหว เพื่อที่จะรับอารมณ์ใหม่ และภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ก็คือ ภวังคุปเฉทะ ซึ่งเมื่อภวังคุปเฉทะเกิดแล้ว เป็นการสิ้นสุดกระแสภวังค์ ต่อจากนั้นวิถีจิตต้องเกิด เพราะว่าตั้งแต่ปฏิสนธิตลอดเรื่อยมาจนถึงภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิตเลย เพราะว่ายังไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์ใหม่

    ทีนี้เมื่อรู้อารมณ์ใหม่ โดยการที่วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่แสดงให้เห็นว่า ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าเป็นจิตชาติกิริยา จะต้องจำแนกไปจนถึงชาติของจิตที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งกิจของจิตนั้นว่า จิตที่เกิดขณะนี้ไม่ใช่วิบากจิตเหมือนอย่างปฏิสนธิ และภวังค์อีกต่อไป แต่เป็นกิริยาจิต คือ จิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง ๕ ได้ แล้วก็จิตดวงนี้ก็ทำกิจอาวัชชนะ คือ รำพึงหรือรู้อารมณ์ที่กระทบทวารโดยที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้รู้อารมณ์ทางจิตอื่นๆ เลย แล้วก็ดับ

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นการเกิดดับสืบต่อของจิต แต่ที่ใช้ชื่อเพื่อให้เข้าใจว่า เราคิดว่ามีตัวเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริงแล้วเป็นกระแสของจิตซึ่งจะต้องเกิดดับสืบต่อ แล้วเพื่อที่จะให้เราเข้าใจความละเอียด และการเกิดดับสืบต่อของจิตแต่ละประเภทจึงได้ทรงแสดงว่า เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ จิตต่อไปเป็นวิบากจิต ๑ ใน ๑๐ ดวง คือ จะเป็นจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิตหนึ่งจิตใดก็ได้ที่ทำกิจเห็นทางตา หรือทำกิจได้ยินทางหู ทำกิจได้กลิ่นทางจมูก ทำกิจลิ้มรสที่ลิ้นเลย ทำกิจรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย

    ในขณะนี้เป็นการที่จะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพที่กำลังมีจริงๆ แล้ว กำลังรู้อารมณ์ ให้ทราบว่าขณะนี้กำลังรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ หรือทวิปัญจวิญญาณซึ่งเกิดต่อ ดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปก็ต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วจิตนี้ทำกิจอะไร ไม่ได้ทำกิจอาวัชชนะเหมือนอย่างปัญจทวาราวัชชนะ แล้วก็ไม่ได้ทำทัสสนกิจ สวนกิจ พวกนั้นเลย แต่จิตดวงนี้เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ เพราะฉะนั้นก็ชื่อว่า สัมปฏิจฉันนจิต ดับไป เมื่อดับไปแล้วก็ต้องมีจิตเกิดต่อ ที่จะไม่ให้จิตเกิดต่อเป็นไปไม่ได้เลย แล้วจิตที่เกิดต่อไม่ได้ทำสัมปฏิฉันนกิจ เพราะเหตุว่าสัมปฏิฉันนจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนั้น รับอารมณ์ต่อ นั่นคือสัมปฏิจฉันนจิต

    เพราะฉะนั้นเมื่อสัมปฏิฉันนะจิตดับแล้ว จิตต่อไปทำสันตีรณกิจ ซึ่งเร็วมาก เพียงชั่วขณะจิตเดียว แล้วเราใช้คำว่าไต่สวน หรือพิจารณา หรือว่าใคร่ครวญ จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่าจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตทำกิจรับอารมณ์นั้นแล้ว จิตต่อไปไม่ต้องรับอารมณ์นั้น เพราะเหตุว่าสัมปฏิจฉันนจิตรับแล้ว เมื่อรับแล้วดับ จิตต่อไปก็รู้ คือ สามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพของอารมณ์

    เพราะฉะนั้นจึงมีที่สันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบากรู้อนิฏฐารมณ์ แล้วก็ที่เป็นกุศลวิบากก็รู้อิฏฐารมณ์ ที่เป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากก็รู้อติอิฏฐารมณ์

    นี่คือเป็นสภาพของจิต ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต ซึ่งจะต้องทำกิจสืบต่อกัน แล้วก็ไม่ต้องใช้เวลามาก เท่ากัน อายุของสัมปฏิจฉันนจิตก็เท่ากับอายุของสันตีรณจิต แต่ว่าโดยฐานที่เกิด เกิดที่หทยวัตถุ แต่เมื่อเวลาที่จักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทำกิจเห็นที่จักขุปสาท ถ้าเป็นโสตวิญญาณทำกิจได้ยินก็ทำกิจที่โสตปสาทรูป แต่ว่าสำหรับสัมปฏิจสันนจิตทำกิจที่หทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้นเปลี่ยนฐานที่เกิด ซึ่งธรรมดาให้เข้าใจว่า จิต ส่วนใหญ่แล้วเกิดที่หทยวัตถุ อันนี้เป็นของที่แน่นอนที่สุด ที่ไม่ต้องคำนึงถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าปกติตั้งแต่ปฏิสนธิ จิตก็เกิดที่หทยวัตถุ แต่ว่าหทยวัตถุนั้นไม่ใช่ว่าเที่ยง หทยวัตถุก็เกิดดับ เพราะฉะนั้นหทยวัตถุใดซึ่งยังไม่ดับ หทยวัตถุนั้นก็เป็นที่เกิดของจิต เว้นจิต ๑๐ ดวง

    นี่แสดงให้เห็นความต่างของการรู้อารมณ์ ซึ่งทำกิจต่างกันว่า ถ้าทำทัศนกิจแล้วจะเกิดที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากที่จักขุปสาท เห็นตรงนั้น อารมณ์กระทบตรงนั้น แล้วก็เห็นตรงนั้น ถ้าเป็นโสตวิญญาณก็ทำกิจได้ยินเสียงตรงที่กระทบกับโสตปสาท แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วจิตก็เกิดที่หทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ เกิดที่หทยวัตถุ สันตีรณะเกิดที่หทยวัตถุด้วย แต่ว่าสัมปฏิฉันนะเป็นขณะแรกที่หลังจากที่ทวิปัญจวิญญาณเกิดที่วัตถุ ๕ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะก็เกิดที่หทยวัตถุใหม่ทำกิจรับอารมณ์ ยังไม่มั่นคงพอเหมือนอย่างสันตีรณจิต ซึ่งสันตีรณจิตเกิดขึ้นที่หทยวัตถุ ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

    เพราะฉะนั้นบางคนจะสงสัยถามว่า เจตสิกเท่ากัน แต่ทำไมต่างกันเป็นจิตนี้เป็นสัมปฏิฉันนะ และจิตต่อไปเป็นสันตีรณะ แต่เพราะเหตุว่าทำกิจต่างกัน แล้วการพิจารณาอารมณ์ก็เร็วมาก เพียงสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขอบคุณค่ะ ประเด็นปัญหาที่ดิฉันยังไม่เข้าใจ ที่เป็นปัญหาที่เรียนถามคือว่า ทำอย่างไรที่เราจะเข้าใจลักษณะของสันตีรณจิตได้ จะใช้คำอะไรดี อาจารย์

    ท่านอาจารย์ คือจะสรรหาคำใดๆ ก็คงจะไม่สามารถเข้าใจลักษณะสันตีรณจิตได้ จะใช้คำว่าพิจารณา ก็คุ้นเคยกับการที่จะต้องดูนานๆ ใคร่ครวญ ไต่สวน หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่านี้เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งมีอายุเท่ากับจิตขณะอื่น ความรวดเร็วของการเกิดดับเท่ากัน เพียงแต่กิจของสันตีรณจิตนั้นไม่ใช่กิจเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิต

    เพราะฉะนั้นเหนือคำที่จะใช้ หมายความว่าใช้คำไหนก็ไม่เข้าใจ นอกจากเข้าใจลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมว่า เกิดดับสืบต่อกันอย่างนี้ เมื่อภาษาบาลีใช้คำว่า สันตีรณะ ถ้าเราจะไม่แปล แต่เราเข้าใจความหมายนั้นก็ได้ว่า ทำสันตีรณกิจ เพราะเหตุว่าถ้าใช้แล้วก็จะยุ่ง หรือว่าจะงง แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้ ไม่อย่างนั้นจะใช้คำอะไร แต่ใช้คำภาษาบาลีดีที่สุด คือ ว่าไม่คลาดเคลื่อน แล้วถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็ต้องเข้าใจว่า ที่จะใช้คำว่าพิจารณา หรือใคร่ครวญ ไต่สวน สอบสวน อะไรก็ตามแต่ เป็นชั่วขณะจิตเดียวซึ่งสามารถที่จะรู้ในลักษณะของอารมณ์ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง คือสามารถเข้าใจสภาพของอารมณ์ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบผู้ร่วมสนทนามีปัญหาอะไร นิมนต์พระคุณเจ้า

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะคะ สามารถรู้ในอาการที่เป็นอนิฏฐารมณ์ หรืออิฏฐารมณ์ หรืออติอิฏฐารมณ์

    ผู้ฟัง โดยที่จิตก่อนหน้านั้นไม่สามารถจะรู้เหมือนสันตีรณะ

    ท่านอาจารย์ รับเท่านั้น

    ผู้ฟัง รับค่ะ ขอบพระคุณ


    หมายเลข 8905
    22 ส.ค. 2567