รูปที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ


    ผู้ฟัง เรื่องโสมนัสสันตีรณะเป็นวิบากจิตซึ่งก็ต้องเป็นผลของกรรม ทีนี้ผลของกรรมที่เป็นกุศล ที่สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็มีอุเบกขาสันตีรณะกับโสมนัสสันตีรณะ กุศลกรรมก็มีทั้งกุศลที่ไม่ประณีต และก็กุศลที่ประณีต เพราะฉะนั้นผลของเขาที่เกิดมาก็จะต้องมีทั้งผลที่ประณีต และไม่ประณีตอย่างนั้นใช่ไหมคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงทางฝ่ายกุศล อารมณ์ก็ประณีตกว่า

    ผู้ฟัง อย่างอารมณ์ที่ประณีตอย่างเช่นพระสุรเสียงของสมเด็จพระสัมมาพระพุทธเข้า ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่ดี ที่น่าพอใจ ในยุคนี้เราไม่มีโอกาสที่จะได้ยินแล้ว ทีนี้ความจริงเสียงอะไรต่างๆ ก็เป็นเพียงแค่รูป เป็นอัพยากตธรรม ไม่น่าจะมากำหนดกันว่า อันนี้ดี หรืออันนี้ไม่ดี แม้แต่พระสุรเสียงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่ทราบว่าเอากฎเกณฑ์อะไรมากำหนดว่า อันนี้เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นเสียงที่ดี เป็นเสียงสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไปวัด แต่หมายความว่า โดยลักษณะสภาพของสิ่งที่มีจริง ต้องต่างกันเป็น ๒ อย่าง สิ่งที่มีจริงที่เป็นรูปที่น่าพอใจก็มี ที่ไม่น่าพอใจก็มี หรือว่ามีแต่เพียงรูปๆ เดียวที่น่าพอใจเท่านั้น หรือว่ามีแต่รูปประเภทเดียวซึ่งไม่น่าพอใจอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปต่างกัน

    ผู้ฟัง ต่างกันโดยสภาวะของรูป

    ท่านอาจารย์ ต่างกันโดยสภาวะของรูปนั้นเอง ยกตัวอย่างกลิ่นก็ได้ กลิ่นมีหลายกลิ่น กลิ่นบางกลิ่นก็น่าพอใจ แต่กลิ่นบางกลิ่นก็ไม่น่าพอใจเลย โดยสภาพของกลิ่น แล้วจะบอกว่าเป็นกลิ่นที่ดีหมดก็ไม่ได้ เป็นกลิ่นที่ไม่ดีหมดก็ไม่ได้ เพราะว่าโดยสภาวะของรูปแล้วต้องเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์


    หมายเลข 8907
    22 ส.ค. 2567