เรารู้จักจิตหยาบๆไม่กี่ประเภท


    ผู้ฟัง สำหรับเรื่องสันตีรณจิต ผมอยากจะเรียนถามว่า สันตีรณจิตทำกิจต่างๆ ทั้ง ๕ กิจนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่า เรารู้ว่าทำจุติจิตได้ เราก็อยากจะทำให้ดีที่สุด เพื่อจุติจิตที่ดี จะทำได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ กิจของจิต ซึ่งทุกคนก็ต้องทราบว่า จิตนี้ทำกิจอะไร เป็นชาติอะไร แล้วทำกิจอะไร อย่างปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา ทำอาวัชชนกิจ คือรับรู้อารมณ์ที่กระทบ นี้เป็นจิตเดียวที่ทำกิจนี้ จิตอื่นจะทำกิจนี้ไม่ได้เลย ในขณะนี้ที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง จิตอื่นจะทำกิจเป็นวิถีจิตแรกไม่ได้ ที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบก่อนที่จะรู้อ่อนหรือแข็ง จะรู้ว่าอารมณ์กระทบทางกาย นั่นคือหน้าที่ของปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นชาติกิริยา เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้งอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย จิตดวงนี้เกิดขึ้น แล้วก็เป็นจิตแรกที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารไหน นี่เป็นหน้าที่ของจิตดวงนี้ ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำภวังคกิจไม่ได้ทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น ไม่ได้ทำสวนกิจ คือ กิจได้ยิน แต่ทำอาวัชชนกิจ

    เพราะฉะนั้นเราก็ทราบชื่อของจิตตามกิจ คือ จิตนี้ชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เพราะว่าเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น หรือโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน ให้ทราบว่า นี่เป็นกิจของจิตที่เป็นกิริยาจิต ซึ่งทุกคนมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ให้ทราบว่า ขณะนี้มีสิทธิที่จะมีกิริยาจิต ๒ ดวง แล้วดวงหนึ่งก็คือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดทำงานตลอด ขณะที่ไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็มีอารมณ์กระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย จิตนี้ต้องทำหน้าที่ตลอด ถ้าอารมณ์กระทบตา จิตนี้ก็เกิดขึ้น ปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ที่กระทบตา ถ้าเป็นเสียงที่กระทบหู จิตนี้ก็ทำกิจเกิดขึ้นรับรู้เสียงที่กระทบแล้วก็ดับไป

    สำหรับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ชื่อก็คุ้นหูคนไทยเกือบจะเรียกว่า ไม่ใช่ชื่อใหม่ ไม่ต้องมานั่งท่องนั่งจำ เพราะฉะนั้นก็จำชื่อใหม่ซึ่งไม่เคยได้ยิน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วให้ทราบว่า เป็นจิตซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดง ไม่มีใครเลยที่จะรู้ความรวดเร็ว ระหว่างจากภวังคจิตแล้วก็มารู้อารมณ์ทางตา แล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็รู้อารมณ์ทางใจสืบต่อ แล้วก็รู้อารมณ์ทางหู แล้วก็เป็นภวังค์

    นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่เราก็มีโอกาสที่จะได้รับฟังว่า มีจิตหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิต ซึ่งคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้วมีจิตนี้ ไม่ว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอะไรก็ตาม ก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน แล้วเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ทวิปัญจวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจ เวลานี้ที่เห็นคือจิตหนึ่งกำลังทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นทางหู ก็จิตหนึ่งคือโสตวิญญาณกำลังเกิดขึ้นทำกิจได้ยินเสียง

    นี่คือกิจของวิบากจิต คำว่า “วิบาก” ก็ต้องทราบให้แน่นอนเลยว่า เป็นผลของกรรม ไม่มีใครทำ ไม่มีใครบันดาล ไม่มีใครจะสร้างจิตเหล่านี้ขึ้นมาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไร ที่จะให้วิบากจิตประเภทใดเกิดขึ้น วิบากจิตประเภทนั้นก็เกิด เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน ดูเป็นของธรรมดาสามัญ แต่ให้ทราบว่า มีกรรมในอดีตเป็นปัจจัยที่ทำให้โสตปสาทรูปเกิดกระทบกับเสียง แล้วโสตวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต เกิดต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยาจิตแล้วดับไปแล้ว ชาติก็ต่างกัน เหตุปัจจัยก็ต่างกัน แล้วไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงการเกิดดับของจิต จะต้องเป็นอย่างนี้ คือ วิบากจิตก็เป็นผลของกรรม ดับไป แต่กรรมก็ไม่ได้ทำให้เฉพาะปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้วดับ ยังทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิดรับอารมณ์นั้นต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต แล้วเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเป็นวิบากดับ ก็ยังมีวิบากซึ่งเกิดต่อแล้วก็พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต จิตซึ่งเป็นวิบากเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ คือ สันตีรณจิต เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม นอกจากทำกิจสันตีรณะ ก็ยังมีกิจอื่นๆ ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน คือ สันตีรณะมี ๓ ดวงก็จริง แต่เฉพาะอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำได้ถึง ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจด้วย ภวังคกิจด้วย จุติกิจด้วย สันตีรณกิจด้วย ตทาลัมพนกิจด้วย ซึ่งเรายังไม่ได้ถึงกิจของตทาลัมพนะ แต่เราก็ได้กล่าวถึงกิจอื่น คือ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ ว่า การที่คนเราต่างกันก็เพราะปฏิสนธิต่างกัน การที่สัตว์โลกทั้งหมดต่างกัน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ ทำภวังคกิจ แล้วก็จะทำจุติกิจ แต่ก่อนที่จะทำจุติกิจ ก็จะต้องทำกิจอื่นที่เป็นวิถีจิต

    ทีนี้สันตีรณทำกิจพิจารณาอารมณ์แล้วดับ ยังไม่มีความรัก ความชัง ความชอบ ความโกรธ ความเกลียดใดๆ ทั้งสิ้น

    นี่ให้ทราบว่า จิตไม่ใช่พอเห็นปุ๊บก็เกิดความพอใจปั๊บ หรืออะไรอย่างนั้น ก็จะต้องมีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่าพอเห็นแล้วชอบ แสดงว่าเรารู้จักจิตหยาบๆ ไม่กี่ประเภท คือ รู้จักทวิปัญจวิญญาณจิต รู้จักโลภมูลจิต รู้จักโทสมูลจิต แต่ก่อนนั้นจะต้องมีจิตซึ่งเกิดอย่างเร็ว แล้วก็ทำหน้าที่จนกว่าจะถึงวาระที่โลภะเกิดได้ หรือว่าโทสะเกิดได้ โมหะเกิดได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อสันตีรณจิตดับแล้ว ยังไม่ถึงโลภะ ยังไม่ถึงโทสะ ยังไม่ถึงกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าจะต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อนโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือกุศลจิต


    หมายเลข 8908
    22 ส.ค. 2567